แม้ว่าตลาดสเต๊กในไทย Sizzler ยังคงครองส่วนแบ่งสูงสุด ด้วยกลยุทธ์ด้านราคาและการตลาด แต่ในประเทศบ้านเกิดอย่าง สหรัฐอเมริกา และ ออสเตรเลีย กลับเผชิญกับการลดลงของจำนวนสาขาอย่างต่อเนื่อง จนถึงขั้นปิดกิจการในบางประเทศ
ปี 2563 Sizzler สหรัฐ ยื่นล้มละลาย และ Sizzler ออสเตรเลีย ปิดทุกสาขา เหตุผลสำคัญไม่ใช่แค่ผลกระทบจากโควิด-19 แต่เป็นเพราะแบรนด์เริ่ม ไม่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ต้องการอาหารที่คุ้มค่ากว่า หลากหลายกว่า และทันสมัยกว่า
Sizzler ติดอยู่ตรงกลางระหว่าง Fast Food กับร้านอาหารระดับสูง
นักวิเคราะห์ชี้ว่า Sizzler ไม่ใช่ Fast Food ที่สะดวกและราคาถูก แต่ก็ไม่ใช่ร้านอาหารระดับพรีเมียมที่คุ้มค่ากับราคาที่จ่าย ส่งผลให้ลูกค้าหันไปเลือกแบรนด์อื่นแทน เช่น เชนร้านอาหารเอเชีย ฟู้ดคอร์ท และร้านอาหารท้องถิ่นขนาดเล็ก ที่มีความหลากหลายและเข้าถึงได้ง่ายกว่า
นอกจากนี้ แนวคิด "Salad Bar บุฟเฟ่ต์" ซึ่งเคยเป็นจุดขายหลัก กลับไม่ดึงดูดคนรุ่นใหม่เท่าเดิม และยังมีต้นทุนการดำเนินงานสูงผู้บริหารของ Sizzler ยังมองว่า “สลัดบาร์” เป็นปัจจัยสำคัญ
จากกว่า 270 สาขา เหลือเพียง 74 สาขาในสหรัฐ
ในช่วงยุครุ่งเรือง Sizzler เคยมีสาขามากถึง 270 แห่งในสหรัฐ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 74 แห่ง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใน แคลิฟอร์เนีย คิดเป็น 68% ของสาขาที่เหลือทั้งหมด
Sizzler พยายามปรับตัว แต่เพียงพอหรือไม่?
Christopher Perkins CEO ของ Sizzler ยอมรับว่า แบรนด์ ต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยปรับปรุง ดีไซน์ร้าน สลัดบาร์ ยูนิฟอร์มพนักงาน และกลยุทธ์การตลาด เพื่อให้ทันกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญคือ แนวทางนี้เพียงพอหรือไม่? เพราะปัญหาหลักของ Sizzler คือ ราคาและความคุ้มค่า ซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด
อนาคตของ Sizzler ในสหรัฐอาจยังคงเป็นเครื่องหมายคำถาม และอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือดจากเชนร้านอาหารรุ่นใหม่ที่ตอบโจทย์ตลาดได้ดีกว่า