วันความสุขสากล หรือ International Day of Happiness โดยมติที่ประชุมสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2555 ได้กำหนดให้วันที่ 20 มีนาคม ของทุกปีเป็นวัน "ความสุขสากล" หรือ The International Day of Happiness โดยมีแนวคิดริเริ่มมาจากต้นแบบความคิดของประเทศภูฏาน ซึ่งเป็นประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก และติดอันดับที่ 1 ในการวัดความรุ่งเรืองของชาติและความสำเร็จทางสังคม หรือดัชนีมวลรวมความสุข หรือ Gross National Happiness Index (GNH) โดยที่การวัดค่าดังกล่าวไม่ได้นำการใช้เศรษฐกิจ หรือความร่ำรวยทางวัตถุมาเป็นตัวตัดสินการพัฒนา แต่กลับหันมามองแบบองค์รวมว่าจิตใจที่ดีของประชาชนและชุมชนนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าวัตถุ
ทั้งนี้ การกำหนดวันดังกล่าวขึ้นนั้น "ยูเอ็น" มีวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ เพื่อให้ทุกคนร่วมเฉลิมฉลอง และตระหนักถึงความสุขอันเป็นเป้าหมายพื้นฐานของมนุษยชนรวมถึงแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของมนุษย์ และเพื่อเรียกร้องให้แต่ละประเทศผลักดันและเข้าถึงนโยบายสาธารณะที่จะเพิ่มความสุขให้แก่ประชาชนทุกๆ คน โดยสหประชาชาติได้มุ่งเป้าไปที่ความสนใจของโลกต่อแนวคิดในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจว่าจะต้องประกอบไปด้วย การรวบรวม ความเสมอภาค และสมดุลเช่นเดียวกับการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน และบรรเทาความยากจนนอกจากนี้สหประชาชาติยังระบุว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจจะต้องมาพร้อมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้บรรลุความสุขของโลก
ยูเอ็นยังได้สำรวจวัดระดับความสุขใน 156 ประเทศทั่วโลกโดยมีปัจจัยความสุขที่สำคัญ เช่น รายได้ การมีงานทำ ความสัมพันธ์ที่ดีความไว้วางใจกันในชุมชน การมีค่านิยมที่เอื้อต่อความสุขและศาสนา สุขภาพกายสุขภาพจิต ความสัมพันธ์ในครอบครัว การศึกษา เสรีภาพทางการเมืองความเข้มแข็งของเครือข่ายสังคม การไม่มีคอร์รัปชั่น และความเท่าเทียมทางเพศและสังคม เป็นต้น มาเป็นตัวชี้วัดความสุขของประเทศต่าง ๆ อีกด้วย
สำหรับการมีความสุขดีๆ ในทุกวันนั้น สามารถทำได้ดังนี้
1. #สุขดี เพราะ...มีความหมาย สร้างคุณค่าให้ตนเอง พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง รับรู้ถึงสิ่งสำคัญในชีวิต และใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า
2. #สุขใจ เพราะ....รับได้มองโลกในแง่ดีตามความเป็นจริง ฝึกมองหาสิ่งดี ๆ แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย
3. #สุขได้ เพราะ...ให้เป็นมองเห็นโอกาสในการให้ และส่งต่อสิ่งดี ๆ แก่คนอื่น
4. #สุขเป็น เพราะ...เข้มแข็งรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ ให้กำลังใจตนเอง และมีที่พึ่งทางใจ
5. #สุขแข็งแกร่ง เพราะ...พอเพียงรู้จักจัดการการเงิน ไม่ใช้เงินเกินกำลังของตนเองจนเกิดปัญหา
6. #สุขพอเพียง เพราะ...มีสมดุลบริหารเวลาให้สมดุล ระหว่างงาน สุขภาพ และครอบครัว
7. #สุขสมดุล เพราะ...ใส่ใจครอบครัวใส่ใจความรู้สึกของคนในครอบครัว ทำกิจกรรมร่วมกัน หมั่นแสดงความรัก-ห่วงใยต่อกันทุกวันหรือโอกาสพิเศษต่าง ๆ รวมทั้งช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจากกรมสุขภาพจิต