นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ภาวะเท้าแบนไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างเท้า โดยลักษณะของเท้าจะไม่มีส่วนโค้งเว้าตรงกลางฝ่าเท้า เมื่อลุกขึ้นยืน ฝ่าเท้าจะราบไปกับพื้นทั้งหมด ภาวะดังกล่าวอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดเวลาเดิน แต่ไม่ใช่อาการที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน จะค่อยเป็นค่อยไปจนเริ่มมีอาการปวดบริเวณเท้า ส้นเท้า หรือฝ่าเท้าด้านหน้า ซึ่งมักเกิดจากเส้นเอ็นอักเสบหรือโรครองช้ำ
ภาวะเท้าแบนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- เท้าแบนแต่กำเนิด ซึ่งเกิดจากความผิดปกติตั้งแต่เกิด โดยได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- เท้าแบนที่เกิดขึ้นภายหลัง มีสาเหตุจากไลฟ์สไตล์หรือวิถีชีวิต เช่น การเดินเท้าเปล่าหรือใส่รองเท้าแบนราบเป็นประจำและเป็นระยะเวลานาน น้ำหนักตัวมากเกินไป และอายุที่เพิ่มขึ้น
หากภาวะเท้าแบนไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น กระดูกงอกหรือตาปลาได้
นายแพทย์สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะเท้าแบนสามารถส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น กระดูกงอก ตาปลา อาการปวดสะโพก และปวดหลัง โดยผู้ที่มีแนวโน้มเสี่ยงต่อภาวะเท้าแบน ได้แก่ ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นเท้าแบน ผู้ป่วยโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคข้อรูมาตอยด์ รวมถึงสตรีมีครรภ์ เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นและผลกระทบของฮอร์โมนในร่างกาย
การรักษาภาวะเท้าแบนแบ่งออกเป็น 3 วิธี ได้แก่
- 1. การบำบัดทางกายภาพ โดยการใส่อุปกรณ์เสริมที่เท้า เช่น แผ่นรองเท้าเฉพาะบุคคล เพื่อบรรเทาอาการเจ็บเท้าและหนุนเท้าผู้ป่วย รวมถึงการออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อที่ยึดเชื่อมกันของขาส่วนล่าง
- 2. การรักษาด้วยยา เพื่อบรรเทาอาการอักเสบและบวม
- 3. การผ่าตัด เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างเท้าในกรณีที่รุนแรง
ทั้งนี้ การป้องกันภาวะเท้าแบนสามารถทำได้โดยสวมรองเท้าที่พอดีและรับกับลักษณะฝ่าเท้า หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือกีฬาที่ก่อให้เกิดแรงกระแทกที่ฝ่าเท้า เช่น วิ่ง กระโดด เตะฟุตบอล และลดน้ำหนักเพื่อลดแรงกระแทกที่เท้า