วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศหลังวันแห่งความรัก (14 กุมภาพันธ์ 2568) จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดพิธีสมรสเท่าเทียมอย่างยิ่งใหญ่และอลังการ โดยจัดพิธีแต่งงานบนหลังช้างพร้อมจดทะเบียนสมรส ณ ปางช้างแม่แตง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเฉลิมฉลองหลังจากที่ กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ
งานนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวแม่แตง, อำเภอแม่แตง, ปางช้างแม่แตง, มูลนิธิเอ็มพลัส (M Plus) และ ชมรม Change Together by มาดามหยก ร่วมกับ พรรคก้าวอิสระ (พรรค INDY) นำโดย นางสาวกชพร เวโรจน์ หรือมาดามหยก ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันสิทธิความเท่าเทียมให้กับสังคม โดยมีเป้าหมายหลักคือ ส่งเสริมการท่องเที่ยวในอำเภอแม่แตง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่คู่บ่าวสาวแต่ละคู่ขี่ช้างเข้าสู่พิธีอย่างช้าๆ สร้างบรรยากาศที่น่าประทับใจและซาบซึ้งใจ
พิธีสมรสเท่าเทียมในครั้งนี้มีคู่สมรส LGBTQ+ จำนวน 4 คู่ คู่สมรสชายหญิงต่างชาติ 1 คู่ และคู่สมรสจากกลุ่มชาติพันธุ์มูเซอและลาหู่ 1 คู่ ถือเป็นพิธีสมรสไร้พรมแดนที่สะท้อนแนวคิดของความเท่าเทียม บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยรอยยิ้มและความสุขของคู่สมรสที่มาร่วมงาน แขกที่มาร่วมงานต่างรู้สึกตื่นเต้นและดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีสุดพิเศษนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขบวนแห่คู่บ่าวสาวบนหลังช้างที่เดินเรียงกันมาอย่างสง่างามและน่าประทับใจ
เมื่อขบวนแห่คู่สมรสเดินทางมาถึงปางช้างแม่แตง ได้มีการแสดงฟ้อนรำต้อนรับ และจัดพิธีฮ้องขวัญผูกข้อมือสู่ขวัญแบบล้านนา เพื่ออวยพรให้คู่สมรสมีชีวิตคู่ที่ยั่งยืน โดยมี นายจักรพันธุ์ ทองอ่ำ นายอำเภอแม่แตง เป็นประธานในพิธี
พรรคก้าวอิสระ (INDY) นำโดยมาดามหยก ได้ร่วมแสดงความยินดีกับคู่สมรสทุกคู่ โดยเธอกล่าวว่า "พรรคก้าวอิสระให้ความสำคัญกับการสนับสนุนสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เราดีใจที่ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าและเป็นตัวอย่างให้กับนานาประเทศในด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศหลังจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้มีผลบังคับใช้"
ด้าน นายวุฒิพงษ์ ถายะพิงค์ ประธานมูลนิธิเอ็มพลัส (M Plus) ได้กล่าวอวยพรคู่สมรสและพูดถึง "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 ตาม พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ซึ่งให้สิทธิแก่ทุกเพศในการจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการส่งเสริมสิทธิของทุกคนในสังคม
นอกจากนี้ อำเภอแม่แตงถือเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนช้างบ้านมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่ง นายกิตติราช ชัยเลิศ นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวแม่แตง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของงานนี้ และริเริ่มให้มีพิธีสมรสบนหลังช้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่คู่สมรสเท่าเทียม พร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในท้องถิ่น