เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา มีชายชาวเบลเยียม 1 รายได้รับการวินิจฉัยยืนยันว่าเป็นโรคโควิด-19 และไม่ทราบแหล่งที่มาของการติดเชื้อ โดยเมื่อวานนี้ (4 ส.ค.) วิทยาลัยการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันคาดการณ์ว่า เชื้อดังกล่าวอาจมาจากคนที่มาจากต่างประเทศโดยไม่รู้ตัว จึงขอแบ่งกลุ่มที่มีความเสี่ยงออกเป็น 6 กลุ่ม เช่น หน่วยงานการดูแลระยะยาว และแรงงานข้ามชาติ และแนะนำให้ทำการตรวจแอนติบอดีและแอนติเจนเพื่อหาเชื้อโควิด-19 โดยการแบ่งลำดับความเสี่ยงของกลุ่มดังกล่าว
ชายชาวเบลเยียมที่เข้ามาทำงานในไต้หวันเมื่อต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อไม่นานมานี้ ได้รับการวินิจฉัยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 โดยบังเอิญ ซึ่งก่อนเดินทางออกนอกไต้หวันได้เข้ารับการตรวจไวรัสโควิด-19 โดยเสียค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งแหล่งที่มาของการติดเชื้อยังไม่ทราบแน่ชัด ศูนย์บัญชาการกลางป้องกันโรคติดต่อไต้หวันจึงได้เริ่มสอบสวนการแพร่ระบาดโดยทันทีเพื่อให้ทราบว่าเป็นการติดเชื้อในประเทศหรือติดเชื้อมาจากต่างประเทศ
นายเฉิน ซิ่วซี (陳秀熙) รองคณบดีวิทยาลัยการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันกล่าวว่า วิศวกรชาวเบลเยียมมีค่า CT เท่ากับ 33 ในวันที่ 31 ก.ค. ซึ่งปริมาณเชื้อสามารถคาดการณ์ได้ว่ามีความเป็นไปได้ในการได้รับเชื้อในช่วงที่วิศวกรชาวเบลเยียมอยู่ในกรุงไทเป ประมาณวันที่ 20-26 มิ.ย. ดังนั้นงานสืบสวนการแพร่ระบาดในไทเปจึงมีความสำคัญมาก
สำหรับความเป็นไปได้ของการติดเชื้อของชายชาวเบลเยี่ยมมีอยู่ด้วยกัน 4 ประการ โดยประการแรกคือการติดเชื้อก่อนเข้าไต้หวัน เนื่องจากชายชาวเบลเยี่ยมจำได้ว่าการรับกลิ่นและรสชาติของตนเองผิดปกติในเดือนมี.ค. แต่ในแง่ของระบาดวิทยา การใช้อาการเพื่อตรวจสอบว่าคุณติดเชื้อหรือไม่จะต้องดูให้ดี
สำหรับความเป็นไปได้ของการติดเชื้อประการที่สองคือการติดเชื้อจากคนที่เข้ามาจากต่างประเทศที่ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวในเดือนมิ.ย. ซึ่งนายเฉิน ซิ่วซีคาดว่ามีความเป็นไปได้นี้สูงที่สุด เพราะชายชาวเบลเยียมรายนี้มีการคลุกคลีกับชาวต่างชาติอยู่บ่อยๆ ส่วนความเป็นไปได้สองประการสุดท้ายนั้นคือการติดเชื้อจากผู้ที่ติดเชื้อที่ไม่รู้ตัวในไต้หวัน เช่นเดียวกับการติดเชื้อก่อนเข้าไต้หวัน และหลังจากเข้าไต้หวันก็ติดเชื้ออีก
นายเฉิน ซิ่วซีกล่าวว่า ปัจจุบันไต้หวันใช้กลยุทธ์ "การทดสอบเฉพาะเมื่อมีอาการ" ซึ่งในทางทฤษฎี หลังจากทำการกักกันโรค 14 วัน จะต้องมีบางกรณีที่ไม่มีอาการ โดยประมาณการณ์ว่าจากการคำนวณผู้คนที่เข้ามาไต้หวัน 35,000 คนต่อเดือนอาจพบผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ 24 ราย หลังจากผ่านไป 28 วัน ก็อาจมีผู้ติดเชื้อแฝง 41 ถึง 171 ราย
แม้ว่า "ปริมาณ" นี้มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับทั้งโลก แต่ก็ไม่สามารถพูดได้ว่าชุมชนในไต้หวันจะไม่มีเชื้อเลย ซึ่งจะมีมากเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับการตรวจหาแอนติบอดีในซีรั่ม
นายเฉิน ซิ่วซีกล่าวว่าควรกำหนดกลุ่มเป้าหมาย 6 กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่อาจมีผู้ที่ติดเชื้อโดยไม่มีอาการ เช่น สถาบันการแพทย์ หน่วยงานการดูแลระยะยาว เรือสำราญ แรงงานข้ามชาติ อาชีพหรือสถานที่ที่มีชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก การดำเนินการตรวจหาแอนติบอดีและแอนติเจนที่แม่นยำโดยการแบ่งลำดับความเสี่ยงจะทำให้ตรวจพบผู้ป่วยที่ไม่มีอาการได้เร็วและการแยกและกักกันอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อแบบคลัสเตอร์และการระบาดใหญ่ของชุมชน