จากผลการสำรวจในปี 2566 พบว่าคนไทยสวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่รถจักรยานยนต์น้อยกว่า 50% โดยอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ขับขี่อยู่ที่ 48% และผู้โดยสารที่ซ้อนท้ายเพียง 21% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขับเคลื่อนการสวมหมวกนิรภัยยังไม่เพียงพอ แม้ว่าจะมีโครงการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในกลุ่มเด็กที่ซ้อนท้ายมีอัตราการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้นถึง 16% โดยเฉพาะจังหวัดตราดและภูเก็ต ที่มีอัตราสวมหมวกนิรภัยเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2562 อย่างเห็นได้ชัด
จากการสำรวจพบว่า จังหวัดที่มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยสูงสุดในแต่ละภูมิภาคในปี 2566 ได้แก่
ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ 59%
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดสุรินทร์ 53%
ภาคกลางและตะวันออก จังหวัดตราด 67%
ภาคใต้ จังหวัดภูเก็ต 55%
กรุงเทพมหานคร 71%
เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ก่อนสถานการณ์โควิด-19 พบว่าอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในเขตชุมชนเมืองหลักลดลงจาก 77% เหลือเพียง 49% และในเขตชุมชนชนบทลดลงเล็กน้อยเหลือ 29% ซึ่งการลดลงของอัตราการสวมหมวกนิรภัยในกลุ่มผู้ใหญ่ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารเหลือเพียง 43% ขณะที่กลุ่มเด็กมีแนวโน้มสวมหมวกนิรภัยสูงขึ้นอัตราการสวมหมวกนิรภัยของเด็กเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย 7-8% เป็น 16%
นอกจากนี้ จังหวัดที่ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยในกลุ่มเด็กได้ดีในแต่ละภูมิภาค ได้แก่
ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ 29%
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมาและอุบลราชธานี 21%
ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร 30%
ภาคตะวันออก จังหวัดตราด 32%
ภาคใต้ จังหวัดภูเก็ต 37%
ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ในการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน เพื่อความปลอดภัยทางถนนตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยจะต่อยอดขยายความร่วมมือในระดับนโยบายและการปฏิบัติการ รวมถึงนำเทคโนโลยี AI และ CCTV เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามและประเมินผลการสวมหมวกนิรภัยในอนาคต