ในช่วงทศวรรษ 1970 "ฝนกรด" เคยเป็นหนึ่งในภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงที่สุดของโลก อากาศในขณะนั้นเต็มไปด้วยมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและควันจากท่อไอเสียรถยนต์ จนทำให้น้ำฝนมีสารพิษที่ส่งผลให้ปลาตาย ทำลายป่า และกัดกร่อนอาคาร รวมถึงรูปปั้นต่างๆ อย่างไรก็ตาม ไม่กี่ทศวรรษต่อมา ฝนกรดก็หายไปเกือบหมด เนื่องจากมีการออกกฎหมายควบคุมการปล่อยสารมลพิษ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ รวมถึงบังคับให้ผู้ผลิตรถยนต์ติดตั้งตัวเร่งปฏิกิริยาในรถยนต์รุ่นใหม่
แม้ปริมาณกรดในน้ำฝนจะลดลง แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่าในปัจจุบัน น้ำฝนกลับปนเปื้อนด้วยสารมลพิษอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึง "ไมโครพลาสติก" และ "สารเคมีตลอดกาล" ที่อันตรายต่อสุขภาพและแทบจะกำจัดออกไปไม่ได้
งานวิจัยในปี 2020 พบว่า น้ำฝนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางตะวันตกของสหรัฐมีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก ส่วนใหญ่เป็นเส้นใยไมโครไฟเบอร์ที่หลุดออกจากเสื้อผ้าและพรมรถยนต์ นักวิจัยประเมินว่าในแต่ละปี มีไมโครพลาสติกจากชั้นบรรยากาศมากกว่า 1,000 เมตริกตัน ตกลงในอุทยานแห่งชาติเหล่านี้ ซึ่งเทียบเท่ากับขวดน้ำพลาสติก 120-300 ล้านขวดน้ำฝน ในปัจจุบันเต็มไปด้วยมลพิษอื่น ๆ มากมาย รวมถึง ไมโครพลาสติก และ สารเคมีตลอดกาล
ในขณะเดียวกัน "สารเคมีตลอดกาล" หรือ PFAS ก็ถูกพบปนเปื้อนในน้ำฝนทั่วโลก ตั้งแต่เขตเมืองไปจนถึงแอนตาร์กติกา PFAS เป็นสารเคมีที่ทนทานสูงและสลายตัวได้ยาก หากสะสมในร่างกายมนุษย์ อาจส่งผลให้ตับเสียหาย เกิดปัญหาต่อมไทรอยด์ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งและภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ทั้งไมโครพลาสติกและสารเคมีตลอดกาลทำให้น้ำฝนทั่วโลกปนเปื้อนและสกปรกเกินกว่าจะดื่มได้ นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า สิ่งเดียวที่สามารถทำได้ในตอนนี้ คือการลดการใช้พลาสติกและพัฒนาระบบบำบัดน้ำให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อควบคุมปัญหาดังกล่าวในระยะยาว