เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ศิลปินศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2557 ได้พำนักที่หมู่บ้านศิลปิน Treasure Hill Artist Village ไต้หวัน จนได้รับแรงบันดาลใจสร้างสรรค์นวนิยาย เรื่อง “ฝูงนกอพยพ” ขึ้น ด้วยเหตุนี้ แผนกวัฒนธรรม สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย จึงได้จัดงานเปิดตัวหนังสือ เรื่อง “ฝูงนกอพยพ” ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 25 ประจำปี2563 ในวันที่ 2 ตุลาคม 2563 ณ ชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยภายในงานนอกจากผู้เขียนจะเดินทางมาร่วมงานด้วยตนเองแล้ว ยังได้เชิญผศ.ดร.อรองค์ ชาคร บรรณาธิการหนังสือ และนายจางเจิ้ง ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกลางไต้หวัน ซึ่งเชื่อมต่อวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ตรงจากไต้หวัน มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักอ่านชาวไทย อีกทั้ง ยังได้รับเกียรติจาก ดร. หลี่ หยิง หยวน ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ดร. สือ ป๋อ ซื่อ รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย นางชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติและที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรม นางสาวกมลพชร โทสินธิติ อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และนายศักดิ์ชัย วิจัยธรรมฤทธิ์ เลขาธิการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย มาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย โดยบรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้เข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก มีการแลกเปลี่ยนระหว่างไทยและไต้หวัน นอกจากนี้ หลังกิจกรรมบนเวทีเสร็จสิ้นลงแล้วก็ได้มีกิจกรรมแจกลายเซ็นของนักเขียน โดยมีนักอ่านแฟนคลับไปต่อแถวรอรับลายเซ็นเป็นจำนวนมาก
เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เป็นนักเขียนชาวไทยเจ้าของผลงาน “แม่น้ำรำลึก” ซึ่งได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (รางวัลซีไรต์) ของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2547 ได้รับยกย่องเป็นศิลปินศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ปีพ.ศ.2557 และได้รับรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง หรือ แม่น้ำโขงอวอร์ด ในปีพ.ศ. 2560 ทั้งนี้ ในปีพ.ศ. 2561 ได้มีโอกาสไปหมู่บ้านศิลปินที่ไต้หวันเพื่อหาแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน จากสิ่งที่ได้สัมผัสและสังเกตการณ์ในดินแดนไต้หวัน ก่อเกิดเป็นหนังสือวรรณกรรมนวนิยาย เรื่อง “ฝูงนกอพยพ” (Birds on A Wire) ถ่ายทอดชะตากรรมและความยากลำบากของแรงงานข้ามชาติชาวไทย รวมถึงประเด็นอันซับซ้อนที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในสังคมร่วมสมัย
ดร. หลี่ หยิง หยวน ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ได้กล่าวระหว่างเปิดงานว่า “การสรรสร้างและการสนับสนุนวรรณกรรมเป็นสิ่งที่รัฐบาลไต้หวันให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งมาโดยตลอด งานเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในครั้งนี้ นอกจากจะตอบรับแนวคิดส่งเสริมการอ่านของงานหนังสือแล้ว ยังหวังว่าผู้อ่านชาวไทยจะได้รู้จักกับภูมิทัศน์และศิลปวัฒนธรรมของไต้หวันผ่านมุมมองของผู้เขียนและการพูดคุยกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญทั้งจากไทยและไต้หวัน พร้อมกระชับความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น”
งานในครั้งนี้เปิดฉากด้วยบทกลอนอันไพเราะจากอังคาร จันทาทิพย์ หนึ่งในห้ายอดกวีซีไรต์ ช่วงเสวนา ผู้เขียนได้แบ่งปันสิ่งที่ได้พบเห็น รวมถึงประสบการณ์เกี่ยวกับวัฒนธรรมและธรรมเนียมต่าง ๆ ของไต้หวันในระหว่างที่พำนักในหมู่บ้านศิลปิน พร้อมเล่าถึงแรงบันดาลใจ กลวิธีการประพันธ์ ความมุ่งมายและนัยแฝงของผลงานวรรณกรรม “ฝูงนกอพยพ” แม้ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้นายจางเจิ้ง ผู้อำนวยการศูนย์วิทยุกลางไต้หวัน ผู้คอยช่วยเหลือผู้เขียนระหว่างอยู่ที่ไต้หวัน ไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานด้วยตนเองได้ แต่ทางผู้จัดก็ได้เชื่อมต่อวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ตรงจากไต้หวันเพื่อให้นายจางเจิ้งเข้าร่วมพูดคุยด้วย ทำให้บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างสบาย ๆ คึกคัก มีชีวิตชีวาซึ่งเข้ากับช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ที่ครอบครัวและเพื่อนฝูงจะมารวมตัวกันพอดี
เรวัตร์เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509 ในครอบครัวเกษตรกรในจังหวัดสุพรรณบุรี ครอบครัวทำอาชีพปลูกข้าวและอ้อย เรวัตร์รักในการสำรวจโลก มีนิสัยตรงไปตรงมา และได้ติดตามเรื่องจิตวิญญาณของผู้คนในสังคมปัจจุบันมาหลายปี ก่อนจะถ่ายทอดความคิดและประสบการณ์ของตนเป็นผลงานเขียน ปัจจุบันได้ออกผลงานเขียนมากกว่า 20 เล่ม มีตั้งแต่นวนิยาย ชุดรวมเรื่องสั้น และชุดรวมบทกวี ผลงานของเรวัตร์ได้รับรางวัลนานาชาติมากมาย อีกทั้งได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาในเอเชียอาคเนย์อีกด้วย
เรวัตร์มีวาสนาร่วมกับไต้หวัน ในเดือนตุลาคม ปีพ.ศ. 2560 เรวัตร์ได้รับเชิญไปร่วมเป็นกวีไทยคนแรกในงาน Asian Poetry Festival ที่ร่วมจัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมของไต้หวัน ทำให้เขาได้ทราบว่าสามารถเข้าร่วมการคัดเลือกเป็นศิลปินในพำนักเพื่อสร้างสรรค์งานวรรณกรรมในหมู่บ้านศิลปิน Treasure Hill Artist Village ได้ ต่อมาในปีพ.ศ.2561 นายเรวัตร์ได้รับเลือกเป็นศิลปินในพำนักเพื่อหาแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมในหมู่บ้านศิลปิน Treasure Hill Artist Village
หมู่บ้านศิลปินไต้หวันมีสภาพแวดล้อมที่ดีเยี่ยมซึ่งมีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก และยังเป็นแรงบันดาลใจของหนังสือเล่มนี้ด้วยเรวัตร์ได้เคยพูดกับสื่อไทยที่มาสัมภาษณ์เขาระหว่างท่องเที่ยวไต้หวันว่า “ไต้หวันคือดินแดนแห่งความฝัน” ไต้หวันให้ความเคารพและเป็นมิตรต่อศิลปิน ทำให้เขาประทับใจมาก
ในช่วงระยะเวลาสามเดือนที่กำลังเขียนผลงาน เรวัตร์ได้ไปเยี่ยมเยียนแรงงานชาวไทยมากมาย ค่อย ๆ กลั่นกรองเรื่องราวชีวิตของเหล่าแรงงานไทยในไต้หวัน และถ่ายทอดผ่านหนังสือเล่มนี้ นอกจากนี้ เรวัตร์ยังได้นำตัวเองเข้าไปในผลงานด้วย เขาได้แสดงความห่วงใยต่อชีวิต ธรรมชาติ สังคม ผ่านตัวอักษรในหนังสือ หนังสือนวนิยายเรื่องนี้มีชื่อว่า “ฝูงนกอพยพ” ซึ่งเปรียบกับการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของผู้คน โดยจะเห็นได้จาก “ฝูงนกอพยพ” ที่บินจากไทยไปสู่ไต้หวัน โดยหวังที่จะทำงานอย่างขยันขันแข็งเพื่อให้ครอบครัวหลุดพ้นจากความยากจนและมีชีวิตที่ดียิ่งกว่าเดิม
เนื้อเรื่องเล่าถึงชีวิตของสงกรานต์ แรงงานวัยรุ่นไทยในไต้หวันคนหนึ่ง เรื่องของกวีไทยที่มุ่งเขียนงานในหมู่บ้านศิลปินไต้หวัน ไปจนถึงเรื่องราวของตัวละครอื่นๆ ทั้งที่มีตัวละครจริงๆ และตัวละครเหนือจริง ไม่เพียงเท่านี้ นวนิยายเรื่องนี้ยังได้พูดถึงประเด็นร้อนอีกหลายประเด็น ทั้งเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางวัฒนธรรม ฯลฯ เรวัตร์กล่าวว่า “หวังว่านวนิยายเรื่องนี้จะสามารถตีแตกกำแพงภาษาและวัฒนธรรมได้ ให้ผู้อ่านต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ต่างเพศ ต่างสัญชาติ ต่างก็สามารถเข้าใจในชีวิตและค้นหาความหมายของชีวิตตัวเองได้”
แหล่งที่มา สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย