นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยถึงกรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ภาพซูชิที่มีแสงสีฟ้าสะท้อนออกมาจากตัวกุ้ง ว่า การเรืองแสงของกุ้งและอาหารทะเลเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ การเจริญของเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่ติดมากับอาหารทะเลและสามารถผลิตสารเรืองแสงได้ โดยเชื้อจุลินทรีย์เหล่านี้จะถูกทำลายได้ด้วยความร้อน แต่ถ้ายังดิบหรือไม่ได้ฆ่าเชื้อให้หมด การเก็บรักษาที่อุณหภูมิไม่เหมาะสม อาจส่งผลให้แบคทีเรียเพิ่มจํานวนขึ้นอย่างรวดเร็วจนเรืองแสงได้ ทั้งนี้ อย. ได้กำหนดให้สถานประกอบการผลิตต้องผ่านการตรวจประเมินตามหลักเกณฑ์ (GMP) เพื่อควบคุม กำกับ ดูแล และเฝ้าระวังความปลอดภัย
ขณะนี้ อย. ได้ตรวจสอบสถานที่จำหน่ายและเก็บตัวอย่างวัตถุดิบ รวมถึงผลิตภัณฑ์ซูชิดังกล่าวส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฎิบัติการแล้ว ซึ่งหากพบการกระทำฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ขอแนะนำผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารจากสถานที่จำหน่ายที่มีการเตรียมอาหารอย่างถูกสุขลักษณะ มีการควบคุมอุณหภูมิระหว่างการเก็บรักษาไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส และควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่ควรรับประทานอาหารดิบ เพราะเสี่ยงต่อการได้รับจุลินทรีย์ก่อโรค ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสียรุนแรง ลำไส้อักเสบ หากพบเห็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัย สามารถร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย. โทร. 1556
ข้อมูลข่าวจาก กรมประชาสัมพันธ์