ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมกับพิษของวิกฤตเศรษฐกิจ อีกหนึ่งภัยร้ายที่กำลังจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคเกษตรกรและปศุสัตว์ของไทยก็คือ ‘โรคลัมปี สกิน’ โรคอุบัติใหม่ในไทยที่พบในโค-กระบือ และสัตว์เคี้ยวเอื้อง กระจายหนักถึง 62 จังหวัด ส่งผลให้มีสัตว์ได้รับผลกระทบแล้วราว 6 หมื่นตัว ตายสะสม 374 ตัว
ล่าสุด วันที่ 9 มิถุนายน ภาครัฐเคาะจ่ายเยียวยาเกษตรกร 6,000-22,000 บาทต่อตัว ตามอายุโคและกระบือ รายละไม่เกิน 2 ตัว ทว่าอัตราเงินเยียวยายังต่ำกว่าราคาของโคและกระบือในตลาดอยู่มาก
โรคลัมปี สกิน เป็นโรคระบาดที่เกิดเฉพาะในโค- กระบือ และสัตว์เคี้ยวเอื้อง/ภาพจาก News 18
โรคลัมปี สกิน คืออะไร?
โรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) เป็นโรคระบาดที่เกิดเฉพาะในโค- กระบือ และสัตว์เคี้ยวเอื้อง ไม่ติดต่อจากสัตว์สู่คน มีแมลงวัน เหลือบ ริ้น ไร ยุง เป็นพาหะนำเชื้อโรค โดยเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย ทำให้ต้องสั่งซื้อวัคซีนจากต่างประเทศ
สัตว์ที่ติดโรคจะเริ่มจากอาการซึม หายใจลำบาก และมีไข้ขึ้น 1-2 วัน ก่อนจะเกิดตุ่มขนาดใหญ่บนผิวหนังทั่วร่างกาย เมื่อเป็นราว 10 วันตุ่มจะแตกและมีน้ำเหลือง หลังจากนั้นจะกลายเป็นสะเก็ดแล้วเกิดเป็นเนื้อตาย
อัตราการป่วยของสัตว์จากโรคลัมปี สกิน อยู่ที่ 5-45% และมีอัตราการตายน้อยกว่า 10% แต่อัตราการตายจะสูงในพื้นที่ที่ไม่เคยมีการระบาด
ผลกระทบจากโรคลัมปี สกิน
ขณะนี้โรคลัมปี สกิน ระบาดหนักในภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ รวมทั้งหมด 62 จังหวัด โดยเริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564
ข้อมูลกรมปศุสัตว์ ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2564 รายงานว่ามีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 2,673 ราย สัตว์ที่ได้รับผลกระทบ 59,665 ตัว สัตว์ป่วย 5,044 ตัว และมีสัตว์ตายสะสม 374 ตัว
โรคลัมปี สกิน ทำให้ผลผลิตของปศุสัตว์ลดลง เมื่อเกิดในโคนมจะส่งผลให้น้ำนมลดลงถึง 25-65% ซึ่งกระทบกับเกษตรกรโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถาวะวิกฤตเศรษฐกิจโควิด-19 ที่มีความหนักหน่วงอยู่แล้ว
ระหว่างการรอฉีดวัคซีนจากภาครัฐ ชาวบ้านบางส่วนต้องพึ่งสมุนไพรภูมิปัญญาท้องถิ่นในการรักษาแผลของวัว เนื่องจากวัคซีนล็อตแรก 60,000 โดสที่นำเข้ามาในวันที่ 31 พฤษภาคมยังไม่เพียงพอ คาดล็อตหน้าอีก 300,000 โดสจะมาถึงไทยในสัปดาห์หน้า
ขณะนี้โรคลัมปี สกิน ระบาดหนักในภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้
“โคเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายของเกษตรกรหลายคน”
วันที่ 9 มิถุนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายให้กรมปศุสัตว์เยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคและกระบือที่ได้รับผลกระทบ เป็นการชดเชยกรณีสัตว์ตายหรือป่วยตาย โดยชดเชยเป็นเงิน 6,000-22,000 บาทต่อตัวตามอายุของสัตว์ ต่อเกษตรรายละไม่เกิน 2 ตัว พร้อมเร่งพัฒนาวัคซีนร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันนี้ (10 มิถุนายน) ชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสดเรื่องแนวทางการแก้ปัญหาและป้องกันโรคลัมปี สกิน ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าจะมีการจ่ายเยียวยาให้เกษตรกรที่ใช้งบส่วนตัวซื้อยารักษาให้สัตว์ไปแล้วหรือไม่ เรียกร้องให้ปรับอัตราชดเชยใหม่ เนื่องจากอัตราในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับราคาโคในตลาดที่อาจสูงได้ถึงหลายแสนบาท และขอให้พิจารณาจ้างนักศึกษาตกงานมาช่วยเหลือจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ไม่เพียงพอ
ประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตอบกระทู้เกี่ยวกับการชดเชยว่าจะปรับปรุงอัตราชดเชยแน่นอน และพิจารณาจ้างงานเพิ่มเติมในกลุ่มของนักศึกษาจบใหม่ สำหรับแบ่งเบาภารกิจของกรมปศุสัตว์