:::

ยิ่งใหญ่อลังการ อียิปต์ค้นพบนครทองคำที่สาบสูญ อายุเก่าแก่ 3,000 ปี

ยิ่งใหญ่อลังการ อียิปต์ค้นพบนครทองคำที่สาบสูญ อายุเก่าแก่ 3,000 ปี

เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา คณะนักโบราณคดีของอียิปต์ ร่วมกับสภาโบราณวัตถุแห่งอียิปต์ (SCA) ประกาศการค้นพบ ‘นครทองคำที่หายสาบสูญ’ (Lost Gold City) ที่มีความเก่าแก่ถึง 3,000 ปี โดยพบอยู่ใต้ผืนทรายในเมืองลักซอร์ ซึ่งเป็นเมืองที่มีโบราณสถานสำคัญหลายแห่งของอียิปต์ โดยคณะนักโบราณคดีกลุ่มนี้นำโดย ซาฮี ฮาวาสส์ นักโบราณคดีชาวอียิปต์ผู้มีชื่อเสียง

นครที่สาบสูญแห่งนี้มีชื่อว่า ‘The Rise of Aten’ มีความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยการปกครองของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 3 (Amenhotep III) จนถึงสมัยฟาโรห์ตุตันคาเมน

ฮาวาสส์ระบุในแถลงการณ์ว่า “คณะนักโบราณคดีชาวต่างชาติจำนวนมากทำการขุดค้น ณ พื้นที่แห่งนี้ เพื่อค้นหาวิหารฝังศพของตุตันคาเมน เนื่องจากวิหารของฟาโรห์โฮเรมเฮบ (Horemheb) และฟาโรห์ไอย์ (Ay) ถูกขุดพบที่นี่” พร้อมเสริมว่าคณะนักโบราณคดีเหล่านั้นขุดไม่พบนครทองคำ

ฮาวาสส์ระบุว่า นครทองคำถือเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่สุดที่ถูกขุดพบในอียิปต์ โดยถูกสถาปนาขึ้นโดยฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 3 ซึ่งเป็นหนึ่งในฟาโรห์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอียิปต์ และเป็นฟาโรห์ลำดับที่ 9 ของราชวงศ์ที่ 18 ที่ปกครองอียิปต์ระหว่าง 1391-1353 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 4 หรือแอเคนาเทน (Akhenaten) โอรสของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 3 ปกครองเมืองแห่งนี้ร่วมกับพระราชบิดาเป็นเวลา 8 ปี

นครทองคำแห่งนี้มีพื้นที่สิ่งก่อสร้างด้านการปกครองและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในยุคจักรวรรดิอียิปต์ ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของเมืองลักซอร์ ฮาวาสส์กล่าวว่า คณะนักโบราณคดีขุดพบถนนย่านเมืองบางส่วนที่มีบ้านเรือนขนาบสองข้างทาง และมีกำแพงสูงถึง 3 เมตร

คณะนักโบราณคดีกลุ่มนี้ ซึ่งเริ่มปฏิบัติภารกิจขุดค้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2020 ค้นพบเมืองสภาพสมบูรณ์แห่งหนึ่งซึ่งมีกำแพงล้อมรอบเกือบสมบูรณ์ ทั้งยังพบห้องหลายห้องที่เต็มไปด้วยเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของคนสมัยโบราณ

“การค้นพบเมืองที่หายสาบสูญครั้งนี้ ถือเป็นการค้นพบทางโบราณคดีครั้งใหญ่เป็นอันดับสองของอียิปต์ หลังจากการค้นพบสุสานตุตันคาเมน” เบตซี ไบรอัน ศาสตราจารย์ด้านอียิปต์วิทยา จากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ของสหรัฐอเมริกากล่าว

ไบรอันกล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้จะช่วยให้คำตอบแก่ปริศนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประการหนึ่งในประวัติศาสตร์ นั่นก็คือ เหตุใดฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 4 และราชินีเนเฟอร์ติติ จึงตัดสินพระทัยย้ายเมืองหลวงไปยังอมาร์นา (Amarna) แหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่ อันเป็นที่ตั้งของซากโบราณสถานของเมืองหลวงที่สถาปนาขึ้นช่วง 1346 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งสร้างขึ้นโดยฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 4 ในช่วงปลายราชวงศ์ที่ 8

พื้นที่ขุดค้นพบนั้นตั้งอยู่ระหว่างวิหารของฟาโรห์รามเสสที่ 3 ที่วิหารเมดินาตฮาบู (Medinet Habu) และวิหารของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 3 ที่อนุสาวรีย์แห่งเมมนอน (Memnon)

แถลงการณ์ระบุว่า เป้าหมายแรกของคณะนักโบราณคดีคือ ระบุช่วงเวลาการก่อตั้งเมืองแห่งนี้ โดยแถลงการณ์ยังระบุถึงจารึกอักษรอียิปต์โบราณ ซึ่งพบบนฝาดินเหนียวของภาชนะบรรจุไวน์ด้วย

การค้นพบครั้งนี้ประกอบด้วยพระราชวังของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 3 จำนวน 3 แห่ง และศูนย์กลางด้านการบริหารปกครองและอุตสาหกรรมของจักรวรรดิ โดยพิจารณาตามลักษณะทางประวัติศาสตร์

ฮาวาสส์กล่าวว่า แหวน แมลงปีกแข็ง ภาชนะดินเผาสี และอิฐโคลนประทับลวดลายคาร์ทูช (Cartouche) ของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 3 ซึ่งถูกค้นพบระหว่างการขุดค้น ช่วยยืนยันความเก่าแก่ของเมืองนี้

ส่วนทางใต้ของเมือง คณะนักโบราณคดีพบร้านขายขนมปัง พื้นที่จัดเตรียมและปรุงอาหาร พร้อมด้วยเตาอบและภาชนะเครื่องปั้นดินเผา ฮาวาสส์กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากขนาดจึงระบุได้ว่าห้องครัวนี้สามารถรองรับคนงานได้เป็นจำนวนมาก

ด้านพื้นที่ส่วนที่สองของเมือง ซึ่งบางส่วนยังไม่ได้รับการขุดค้นนั้น คาดว่าเป็นเขตการปกครองและเขตที่อยู่อาศัย ซึ่งมีพื้นที่ที่ถูกจัดแบ่งเป็นอย่างดีและมีพื้นที่มากกว่า ทั้งยังมีการล้อมรั้วด้วยกำแพงเป็นแนวฟันปลา และมีทางผ่านเข้า-ออกสู่พื้นที่ชั้นในและพื้นที่อยู่อาศัยเพียงแค่จุดเดียว

ฮาวาสส์เสริมว่า กำแพงทรงฟันปลาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่พบเห็นได้ยากในสถาปัตยกรรมอียิปต์โบราณ โดยส่วนใหญ่มักพบเห็นในช่วงปลายราชวงศ์ที่ 18

ขณะพื้นที่ส่วนที่สามเป็นโรงผลิต ซึ่งมีพื้นที่ผลิตอิฐดินสำหรับใช้สร้างวิหารและอาคาร โดยอิฐดินเหล่านี้ประทับลวดลายคาร์ทูชของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 3

ฮาวาสส์ทิ้งท้ายว่า คณะนักโบราณคดียังค้นพบเครื่องมือหลายประเภทซึ่งใช้ในการปั่น ถักทอ และยังพบตะกรัน (Slag) สำหรับผลิตแก้ว และกำลังสืบสวนเรื่องการค้นพบจุดฝังศพที่ผิดปกติของวัวหรือกระทิงตัวหนึ่งในห้องแห่งหนึ่ง รวมถึงจุดฝังศพของบุคคลหนึ่งที่แขนทั้งสองของเขายื่นออกไปด้านข้าง และมีเศษเชือกอยู่พันรอบหัวเข่า

ยิ่งใหญ่อลังการ อียิปต์ค้นพบนครทองคำที่สาบสูญ อายุเก่าแก่ 3,000 ปี

มาเป็นคนแรกที่แสดงความคิดเห็น

ข่าวเด่นประเด็นร้อน

:::
ข่าวล่าสุด 最新消息icon
回到頁首icon
Loading