กำลังเป็นกระเเสไวรัลสนั่นโลกโซเชียล เมื่อเทรนด์ฮิต นักท่องเที่ยวจีน สวมใส่ “ชุดนักเรียนไทย” เช็คอินไปตามสถานที่ต่าง ๆ และถ่ายภาพสวย ๆ ลงโซเชียล ทำให้ในตอนนี้วัยรุ่นจีนที่มาเที่ยวเมืองไทยต่างเเห่เเต่งตัวชุดนักเรียนเดินเที่ยวกัน ซึ่งคาดว่า มาจากภาพยนตร์และซีรีส์ของไทย ที่ถูกนำไปฉายในต่างแดน อย่างเรื่อง “สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารัก” และ “เด็กใหม่ 2” ที่มีการดำเนินเหตุการณ์ในช่วงวัยมัธยม ทำให้ได้เห็นนักแสดงนำสวมใส่ชุดนักเรียนบ่อยครั้ง
อ่านข่าวเพิ่มเติม : รางวัลวรรณกรรมสำหรับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และแรงงานต่างชาติ ครั้งที่ 8 รางวัลชนะเลิศ 1 แสนเหรียญ
นักท่องเที่ยวจีนสวมใส่ “ชุดนักเรียนไทย” เช็คอินไปตามสถานที่ต่าง ๆ และถ่ายภาพสวย ๆ ลงโซเชียล ภาพ/นำมาจาก เว่ยป๋อ鞠婧禕
หากมองในแง่ของการท่องเที่ยวที่ซบเซาหลังจากเกิดการระบาดของโรคโควิด จากกระแสที่เกิดขึ้นอาจมองได้ว่า การที่นักท่องเที่ยวจีนให้ความนิยมแต่งชุดนักเรียนไทย เที่ยวเมืองไทย โพสต์ลงโซเชียลจนกลายเป็นเทรนด์ใหม่ ซึ่งถือว่าเป็น Soft Power ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากไม่เพียงแต่ปลุกกระแสด้านการท่องเที่ยวเท่านั้น ยังถือเป็นการกระตุ้นยอดขายชุดนักเรียนอีกด้วย
แต่สังคมบางส่วนก็ตั้งคำถามว่า การสวมชุดนักเรียนไทย ที่ถูกทำให้กลายเป็นชุดคอสเพลย์นั้น มันถูกต้องหรือไม่ หากจะมองกันในแง่ของกฎหมายแล้วนั้น ตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ระบุไว้ว่า ผู้ใดแต่งเครื่องแบบนักเรียนโดยไม่มีสิทธิที่จะแต่ง หรือแต่งกายเลียนแบบเครื่องแบบนักเรียน ถ้าได้กระทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นนักเรียน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท แต่หากจะดูกันที่บริบทที่เกิดขึ้น ทนายความ ระบุว่า บางเรื่องก็ต้องดูกันที่เจตนา จึงไม่อาจกล่าวได้ว่า จะถือเป็นความผิดสมบูรณ์หรือไม่
อ่านข่าวเพิ่มเติม : นักศึกษาชาวพม่าเดินทางเข้ารายงานตัวต่อสตม.เพื่อขอเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด
นักเรียนไทยต้องแต่งเครื่องแบบ “ชุดนักเรียน”ตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมหาวิทยาลัย ภาพ/นำมาจากเฟสบุ๊ก Chulalongkorn University
ส่วนอีกมุมหนึ่งนั้น หลายคนก็แสดงความกังวลถึงภาพลักษณ์ของ “ชุดนักเรียนไทย” ผศ.ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุลอดีตประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรปริญญาเอก (นานาชาติ) ด้านอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า อาจจะเป็นเหมือนเหรียญ 2 ด้าน เพราะช่วงหนึ่งมีประเด็นเด็กนักเรียน ที่ประท้วงไม่อยากแต่งชุดนักเรียน แต่อีกมุม ก็กลับมาดังจากชาวจีน ที่เป็นพวกบล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ แต่งชุดนักเรียน และได้รับความนิยมในหมู่ของคนจีน
ทั้งนี้ การผลักดัน “ชุดนักเรียนไทย” ให้กลายเป็น soft power ถือเป็นโอกาสดี เพราะในกรณีสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ ก็มีให้เช่าชุดนักเรียนกันแบบจริงจัง ก็น่าจะเป็นตัวกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยได้เป็นอย่างดี แต่ต้องมีมาตรการควบคุมที่เหมาะสม ชัดเจน เพื่อไม่ให้กลายเป็นเหรียญสองด้าน