:::

คู่รักชาวฮ่องกงเดินทางมาสานฝันและเริ่มต้นธุรกิจที่ไต้หวัน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนงานฝีมือระหว่างฮ่องกงและไต้หวัน

คู่รักจากฮ่องกง คุณเฉินซ่งจวิน (陳頌鈞) (ซ้าย) และ คุณหลันเพ่ยฉี (藍珮琪) (ขวา) เดินทางมาไต้หวันเพื่อสานฝันและเริ่มต้นธุรกิจ ภาพจาก/小島慢遊Let It Slow
คู่รักจากฮ่องกง คุณเฉินซ่งจวิน (陳頌鈞) (ซ้าย) และ คุณหลันเพ่ยฉี (藍珮琪) (ขวา) เดินทางมาไต้หวันเพื่อสานฝันและเริ่มต้นธุรกิจ ภาพจาก/小島慢遊Let It Slow
เว็บไซต์ข่าวรอบโลกสำหรับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่】ผู้แปลและเรียบเรียง/นงค์รักษ์ เหล่ากอคำ (李慧毓)

เดินทางจากประเทศบ้านเกิดที่คุ้นเคยในฮ่องกง คุณเฉินซ่งจวิน (陳頌鈞) และ คุณหลันเพ่ยฉี (藍珮琪) ทิ้งหน้าที่การงานและเงินเดือนที่มั่นคง เดินทางมาสานฝันโดยการเปิดร้านเป็นของตัวเองที่ไต้หวันให้เป็นจริง“小島慢遊Let It Slow”  ร้านค้าที่เต็มไปด้วยบรรยากาศของวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเน้นงานแฮนด์เมดและมนุษยนิยมแบบสโลว์ไลฟ์ ในช่วงที่เปิดร้านใหม่ ๆ ต้องเผชิญกับโรคระบาดโควิด-19 ทั้งสองต้องรับมือกับปัญหาที่เข้ามารุมเร้าในแต่ละเรื่อง แต่ไม่ว่าจะอย่างไรพวกเขาก็ไม่เคยท้อถอย และตัดสินใจเดินหน้าต่ออย่างมีความสุข

เมื่อหลายปีก่อนมีโอกาสมาเที่ยวไต้หวัน ในขณะนั้นก็เกิดไอเดียอยากจะเปิดร้าน

ในปี 2013 ทั้งสองได้พบกับคู่สามีภรรยาที่เกษียณอายุราชการซึ่งเปิดโฮมสเตย์ขณะเดินทางไปเยี่ยมชมเมืองไถหนาน ภายในบริเวณโฮมสเตย์มีสนามหญ้าสีเขียว ซึ่งทำให้ผู้คนรู้สึกผ่อนคลายมาก คุณหลันเพ่ยฉี กล่าวว่า “พวกเขาแชร์เรื่องราวการใช้ชีวิตในไต้หวันให้เราฟังอยู่หลายเรื่อง แล้วเราก็คิดว่า อ่า ในอนาคตก็อยากมีวิถีชีวิตอีกแบบเหมือนกัน ไม่ใช่วัน ๆ มัวแต่ยุ่งอยู่กับการทำงาน” ในระหว่างการสนทนา ความคิดที่อยากจะเปิดร้านในไต้หวันของคู่รักชาวฮ่องกงก็เกิดขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม: ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ชาวแคนาดา สวมชุดกี่เพ้าเดินเที่ยวชมสัมผัสบรรยากาศเทศกาลตรุษจีนในไทเป

บรรลุความฝันทีละก้าว

คุณหลันเพ่ยฉีเธอเล่าว่าในเดือนพฤษภาคม 2021 เธอเดินทางมาหาที่พักและหาที่จะเปิดร้านที่ไต้หวันคนเดียว ในระหว่างนั้นเธอก็เจอกับช่วงที่ไต้หวันเกิดโรคระบาดอย่างหนักพอดี เป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์ไม่ว่าจะออกหาดูที่ยังไงก็หาที่เหมาะไม่เจอสักที และในช่วงนั้นก็เริ่มมีอาการนอนไม่หลับเป็นครั้งแรกในชีวิต “ตอนมาถึงไต้หวันใหม่ ๆ ฉันก็รู้สึกประหม่าเล็กน้อย โชคดีที่ฉันได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ ชาวไต้หวัน และฉันยังได้พบกับเจ้าของบ้านผู้ใจดีที่ยอมปล่อยให้ฉันเช่าห้องพักแบบระยะสั้น ทำให้ฉันลดแรงกดดันในเรื่องสัญญาเช่าได้เป็นอย่างมาก จนในที่สุดฉันก็ปรับตัวให้กลับมาเป็นปกติได้” ต่อมาในเดือนกันยายนของปีเดียวกันนั้น คุณเฉินซ่งจวิน ผู้ซึ่งยุ่งกับเรื่องราวต่าง ๆ ในฮ่องกงก็เดินทางมาถึงไต้หวันพร้อมกับลูกหมาของเขาได้สำเร็จ

ทั้งสองมีความหลงใหลในการออกแบบสินค้าแฮนด์เมดเป็นอย่างมาก ภาพจาก/小島慢遊Let It Slow

จากความพยายามในการทำงานอย่างหนักของทั้งสอง ในที่สุด ร้าน “小島慢遊 Let It Slow” ก็สามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ภายในร้านมีการจำหน่ายงานแฮนด์เมด อาหารทานเล่น ออกแบบผลิตภัณฑ์ และจัดเวิร์กช็อป ตลอดจนมีการจัดนิทรรศการเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมเป็นครั้งคราวด้วย

ผลงานส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างไต้หวันและฮ่องกง

เมื่อพูดถึงผลิตภัณฑ์ดีไซน์ที่จัดแสดงในร้าน คุณหลันเพ่ยฉีแบ่งปันแนวคิดการทำงานในฐานะผู้สร้างสรรค์และความสำคัญทางวัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลังของผลงานแต่ละชิ้นอย่างตื่นเต้น ตัวอย่างเช่น ภาพประกอบบนไปรษณียบัตร ที่มีรูปรถรางในฮ่องกง “นี่เป็นวิธีการเดินทางที่ช้าที่สุดในฮ่องกง คนฮ่องกงจำนวนมากจึงชอบนั่งรถรางพร้อมชมทิวทัศน์ไปด้วย”

ภาพประกอบบนไปรษณียบัตร ที่มีรูปรถรางในฮ่องกง ภาพจาก/小島慢遊Let It Slow

นอกจากนี้ยังมีภาพวาดรถไอศกรีมด้วย คุณหลันเพ่ยฉีพบว่าเสียงรถไอศกรีมของฮ่องกงมีความคล้ายคลึงกับเสียงรถขยะของไต้หวันมาก ดังนั้น ตอนที่เธอมาไต้หวันใหม่ ๆ เธอก็รู้สึกประหลาดใจทุกครั้งที่ได้ยินเสียงที่คุ้นเคยเหมือนอยู่ในฮ่องกง

ทั้งนี้ทางร้านยังจำหน่ายผลงานของนักออกแบบชาวไต้หวัน เพื่อให้ชาวต่างชาติในไต้หวันเข้าใจถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ดียิ่งขึ้น “ฉันยังหวังว่า ผ่านงานของนักออกแบบเหล่านี้ นอกเหนือจากการแนะนำฮ่องกงแล้ว ฉันยังสามารถพูดคุยกับลูกค้าเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่แตกต่างที่น่าสนใจได้ด้วย”

ทั้งคู่หวังที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมผ่านผลงานของนักออกแบบระหว่างฮ่องกงและไต้หวัน ภาพจาก/小島慢遊Let It Slow

อาหารทานเล่นสุดพิเศษของทางร้าน

อาหารทานเล่นของทางร้านทำขึ้นอย่างพิถีพิถัน เช่น “ทาร์ตช็อกโกแลตสูตรแคลอรีต่ำ” ที่ทำมาจากเต้าหู้ที่ดีต่อสุขภาพและรสชาติอร่อย นอกจากนี้ยังมีเมนู “เค้กเกาะเล็ก” ที่เป็นเมนูซิกเนเจอร์ของทางร้าน ซึ่งใช้เค้กมัทฉะเป็นตัวเกาะ ข้างในมีไส้ถั่วแดง แล้วตกแต่งด้วยวีปครีม ผลไม้ และถั่วต่าง ๆ พร้อมเสิร์ฟด้วยจานสีฟ้าที่เหมือนสีของทะเล ทำให้เกิดภาพชายหาดตัดกับน้ำทะเลสวยงามมาก ๆ

เค้กเกาะเล็ก ๆ เมนูซิกเนเจอร์ของทางร้าน ภาพจาก/小島慢遊Let It Slow

เพื่อให้คนได้รู้จักรสชาติของฮ่องกงมากขึ้น ทางร้านยังมีการขายชานมสไตล์ฮ่องกงด้วย “ไต้หวันมีชานมให้เลือกมากมาย แปลกใจที่คนไต้หวันหลายคนชอบสั่งชานมสไตล์ฮ่องกง ” คุณหลันเพ่ยฉีกล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม: ชาวสวิสที่เกิดและเติบโตในไต้หวันชอบภาพยนต์ท้องถิ่นไต้หวัน หลายฉากในเรื่องทำเอาเขาน้ำตาตกไปด้วย

เกาะเล็ก ๆ ที่เป็นศูนย์รวมของผู้คนมากมาย

ชื่อร้าน “小島慢遊” ที่แปลว่า ท่องเที่ยวอย่างสโลไลฟ์ มีอยู่  3 ความหมายด้วยกัน 1.เป็นตัวแทนของไต้หวัน ซึ่งเป็นที่ที่คุณหลันเพ่ยฉีและคุณเฉินซ่งจวินอาศัยอยู่ 2.เป็นตัวแทนของฮ่องกง ซึ่งเป็นที่ที่พวกเขาเติบโตขึ้นมา 3.เป็นตัวแทนของความฝันนั่นคือร้านที่สองสามีภรรยาช่วยกันสร้างขึ้นมานี้ โดยพวกเขาหวังว่าทุกคนที่มาทานอาหารที่ร้านจะค่อย ๆ วางฝีเท้าของตัวเองให้ช้าลง มานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยน และทานอาหารที่เต็มไปด้วยเรื่องราว

“ตลาดวินเทจ” ที่จัดขึ้นเป็นพิเศษ ครั้งนั้นมีทั้งคนหนุ่มสาวมาแบ่งปันวิธีการทำเสื้อผ้าเก่าให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ภาพจาก/小島慢遊Let It Slow

ผ่านงานของนักออกแบบเหล่านี้ นอกเหนือจากการแนะนำฮ่องกงแล้ว ฉันยังสามารถพูดคุยกับลูกค้าเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่แตกต่างที่น่าสนใจได้ด้วย ภาพจาก/小島慢遊Let It Slow

นอกจากนี้ ทางร้านยังได้มีการจัดนิทรรศการเชิงปฏิบัติเป็นประจำ ซึ่งเป็นการให้เพื่อน ๆ ที่รักในงานฝีมือมีพื้นที่มารวมตัวแชร์ประสบการณ์ร่วมกัน เหมือนกับ “ตลาดวินเทจ” ที่จัดขึ้นเป็นพิเศษ ครั้งนั้นมีทั้งคนหนุ่มสาวมาแบ่งปันวิธีการทำเสื้อผ้าเก่าให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และยังมีการจัดเวิร์คช็อปร่วมกับแบรนด์ไต้หวัน ทุกคนสนุกสนานไปกับการทำงานฝีมือและเพลิดเพลินกับเครื่องดื่มที่สุดแสนอร่อย ทั้งคู่หวังว่าผู้คนไม่เพียงแต่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม แต่ยังสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้อีกมากมาย

อบอุ่นและเป็นกันเอง

นอกจากเจ้าของบ้านสุดแสนใจดีที่พวกเขาพบเจอตอนมาไต้หวันใหม่ ๆ แล้ว ทั้งสองยังได้พบกับชาวไต้หวันที่อบอุ่นและเป็นมิตรอีกหลายคน ตัวอย่างเช่น พนักงานที่ร้านหรือลูกค้าที่อดทนฟังภาษาจีนที่ติดสำเนียงกวางตุ้งของพวกเขา และคุณยายที่อาศัยอยู่ใกล้ร้าน โดยมักจะเอาผลไม้มาฝาก ในช่วงปีใหม่ยังมีของฝากติดไม้ติดมือมาให้มากมาย พอถามคุณยายก็พบว่า ลูกชายของคุณยายอาศัยอยู่ที่อเมริกา คุณยายเห็นสองสามีภรรยาคู่นี้เหมือนลูกของตัวเองเลยได้นำของฝากมาให้อยู่บ่อยครั้ง

แม้ว่าทั้งคู่จะใช้เงินออมจำนวนมากในการลงทุนเริ่มต้นธุรกิจในไต้หวัน แต่ธุรกิจของพวกเขาได้รับผลกระทบจากโรคระบาดอย่างมาก “แต่เราไม่เคยเสียใจที่ตัดสินใจย้ายมาสานฝันที่ไต้หวันและไม่เคยคิดที่จะยอมแพ้ เพราะนี่คือการใช้ชีวิตที่เรารอคอยมาโดยตลอด และการเปิดร้านจะต้องพบกับความยากลำบากอย่างแน่นอน นี่เป็นเพียงอุปสรรคเล็ก ๆ ที่ต้องพบเจอเมื่อเริ่มต้นธุรกิจ” คุณหลันเพ่ยฉีกล่าวอย่างหนักแน่น ทั้งสองจะนำจิตวิญญาณของชาวฮ่องกงมาเผชิญกับความยากลำบาก จากการสนับสนุนจากสมาชิกในครอบครัวและลูกค้าประจำฉันเชื่อว่าพวกเราจะสามารถฝ่าฟันช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ร่วมกับชาวไต้หวันไปได้อย่างแน่นอน

ติดตาม小島慢遊 Let It Slow เพิ่มเติมได้ที่ Facebook, Instagram

มาเป็นคนแรกที่แสดงความคิดเห็น

ข่าวเด่นประเด็นร้อน

ข่าวล่าสุด 最新消息icon
回到頁首icon
Loading