[เว็บไซต์ข่าวรอบโลกสำหรับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่] ตามรายงานจาก “เฟซบุ๊กสุขภาพคนไทย” ปัจจุบันคอนเทนต์จากสื่อโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลเป็นอย่างมากในชีวิตประจำวัน หนึ่งในคอนเทนต์ที่คนไทยนิยมทำและดูกันอย่างมากคือ “คอนเทนต์ที่แสดงถึงความสำเร็จ” โดยจะผ่านขึ้นฟีดโซเชียลอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้คนเป็น “โรคเสพติดความสำเร็จจากโซเชียลมีเดีย” ได้
หลาย ๆ คนที่ได้ดูคอนเทนต์ก็ลืมไปว่า จริง ๆ แล้วชีวิตของคนเราก็ไม่ได้เจอแต่ความสำเร็จเสมอไป แต่คนส่วนมากมักจะเปิดเผยด้านความสำเร็จมากกว่าความล้มเหลวที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง เราจึงเห็นแต่คนที่มีชีวิตสมบูรณ์แบบเต็มไปหมด จนนำมาเปรียบเทียบ สร้างความกดดันและความเครียดให้กับตัวเอง เกิดเป็นปัญหาสุขภาพจิตและกลายเป็นสภาวะซึมเศร้าจนอาจรุนแรงถึงขั้นคิดทำร้ายตัวเองได้
ผลการสำรวจของกรมสุขภาพจิต (จำนวน 154,054 คน) พบว่า คนไทยที่มีอายุ 15 ปี ขึ้นไป ร้อยละ 11.5 มีระดับสุขภาพจิตที่ต่ำกว่าคนทั่วไป แต่ด้วยเรื่องความคิดที่ซับซ้อน ฮอร์โมน หรือปัญหาที่ผู้หญิงต้องพบเจอ ทำให้สัดส่วนของผู้หญิงมีความเสี่ยงทางสุขภาพจิตสูงกว่าผู้ชาย
จากรายงานการฆ่าตัวตายสำเร็จจากใบมรณะบัตรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2564 พบว่าช่วงวัยทำงาน ซึ่งมีอายุ 25-44 ปี เป็นช่วงวัยที่อัตราการฆ่าตัวตายถึงร้อยละ 42.9 ซึ่งจากสถิติการใช้ Social Media ในประเทศไทย รายงานโดย Digital Stat 2022 ระบุว่าเป็นช่วงวัยที่ใช้ Social Media มากที่สุด รวมกันถึงร้อยละ 71.7 เลยทีเดียว
เราต้องตระหนักถึงการป้องกันเพื่อปกป้องจิตใจของตัวเราเองให้มาก แต่เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว เราจึงต้องมองหาแนวทางการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเข้าหาบริการทางสุขภาพจิตหรือทำ “โซเชียลดีท็อกซ์” ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งวิธีเพื่อลดการใช้โซเชียลมีเดียให้น้อยลง การสะสมความกดดันและความเครียดไว้ในตัวเราก็จะลดลงไปด้วย
อ่านข่าวเพิ่มเติม :ไถหนาน ติดอันดับสถานที่ท่องเที่ยวสุดเจ๋ง ของนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก