[เว็บไซต์ข่าวรอบโลกสำหรับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่] ตามรายงานจาก “สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)” นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ระบบสุขภาพ โดยเฉพาะระบบบริการ เริ่มต้นตั้งแต่หน่วยบริการระดับปฐมภูมิ ไปจนถึงหน่วยบริการระดับศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่างๆ (Excellent Center) ซึ่งสิ่งที่เราอยากเห็นคือ ผู้คนที่เจ็บป่วยสามารถไปใช้บริการที่มีคุณภาพใกล้บ้านได้อย่างสะดวก โดยขณะนี้ ใกล้สุดคือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ถัดไปเป็นโรงพยาบาลในระดับอำเภอ นอกจากนี้ยังพบว่าจำนวนผู้รับบริการในโรงพยาบาลระดับต่างๆ ยังมีจำนวนมาก ทั้งที่จริงแล้วบางคนมีอาการเจ็บป่วยไม่มากหรือเจ็บป่วยเล็กน้อย แต่ต้องเสียเวลาไปโรงพยาบาล ซึ่งแต่ละคนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็จะเสียเวลาค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นถ้ามีการเพิ่มขีดความสามารถหรือศักยภาพในการให้บริการเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด โดยกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อยให้สามารถไปรับยาที่สถานบริการสุขภาพใกล้บ้าน น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มาก จึงนำมาสู่คำถามทางวิชาการว่า ถ้าประชาชนจะไปรับยาใกล้บ้านต้องทำอย่างไรให้ถูกหลักวิชาการ เพราะฉะนั้นงานวิจัยที่จะตอบคำถามเชิงนโยบาย โดยเฉพาะเรื่องการประเมินว่า ทำแล้วเกิดผลอะไร อย่างไร และต้องปรับปรุงตรงไหนเพิ่มเติมบ้าง เป็นเรื่องสำคัญที่นำมาซึ่งโจทย์วิจัยเชิงระบบ
“หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ทำวิจัยระบบสุขภาพ หมายความว่าอย่างไร งานวิจัยลักษณะนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนและสำคัญ หรือตัวอย่างการวิจัยเชิงระบบของ สวรส. ในอดีต เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นต้น นอกจากนั้นหลังจาก สวรส. ได้มีการประเมินโครงการรับยาที่ร้านยาแล้ว สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้นำไปใช้ในการพัฒนานโยบายรับยาที่ร้านยาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยมีการตั้งเป้าว่าร้านยา 1 ร้านควรให้บริการครอบคลุมประชาชน 10,000 คนในช่วงแรก และเนื่องจากมีผู้ใช้บริการบัตรทองอยู่ประมาณ 48 ล้านคน เพราะฉะนั้นทั้งประเทศควรมีร้านยาที่เข้าร่วมโครงการรับยาที่ร้านยาประมาณ 4,800 ร้าน หรือตั้งเป้าไปที่ 5,000 ร้าน และควรมีการกระจายไปในพื้นที่ให้ครอบคลุมการรับบริการให้มากที่สุด” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีร้านยาที่สมัครเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 1,500 ร้าน ซึ่งหน่วยงานเกี่ยวข้องกำลังเร่งรัดให้ได้ 5,000 ร้าน แต่ต้องยอมรับว่าร้านยาส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการเป็นร้านยาที่อยู่ในพื้นที่เขตเมือง และอยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งควรผลักดันให้เกิดการกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ในทุกภาคมากขึ้น และเป็นที่น่ายินดีว่า หลังจากเริ่มโครงการไม่นาน นอกจากมีร้านยาเข้าร่วมโครงการแล้ว ยังพบว่ามีประชาชนมาใช้ประโยชน์ประมาณ 5 แสนกว่าครั้ง จำนวน 2 แสนกว่าคน เฉลี่ยคนละประมาณ 2 ครั้ง เพราะฉะนั้นการลดผู้ป่วย 5 แสนกว่าคน ซึ่งเกือบครึ่งล้านคนที่ต้องไปโรงพยาบาล ก็จะทำให้ทุกฝ่ายให้บริการได้ดีขึ้น ทั้งนี้โรคที่พบส่วนใหญ่ 1 ใน 3 เป็นโรคไข้หวัด เจ็บคอ ไม่สบายเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องไปแออัดอยู่ที่โรงพยาบาล และเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลไปในตัวในเรื่องการยกระดับ 30 บาทพลัส โดยร้านยาที่จะเข้าร่วมโครงการต้องมีมาตรฐานที่เรียกว่า Good Pharmacy Practice (GPP) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลก โดยมีเงื่อนไขการประเมินพื้นฐาน เช่น เรื่องสถานที่ อุปกรณ์ บุคคล คุณภาพยา บริการ โดยอย่างน้อยต้องผ่าน 70 % ในประเด็นที่มีความสำคัญ ดังนั้นประชาชนที่ไปใช้บริการรับยาที่ร้านยา สามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับบริการที่มีคุณภาพ และแน่นอนว่าในเรื่องนี้ สวรส. จะสนับสนุนองค์ความรู้ในเรื่องของมาตรการ แนวทางการให้บริการรูปแบบใหม่ๆ ตลอดจนการกำกับติดตามและประเมินผล เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า เกิดประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และประชาชนมีความพึงพอใจในการรับบริการ ตลอดจนมีการใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม ซึ่งนโยบายรับยาที่ร้านยากรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย ถ้าสามารถทำได้ครอบคลุม จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศเป็นอย่างมาก และเกิดการยกระดับการบริการประชาชนตามนโยบาย 30 บาทพลัสในเวลาเดียวกัน
ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า ร้านยาจึงสามารถตอบโจทย์ข้อจำกัดด้านสถานที่และบุคลากรได้ดี ผนวกกับแนวคิดการผลักดันการกระจายกระบวนการทำงานบางส่วนออกสู่ภายนอกโรงพยาบาล ได้แก่ การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน/ความดันโลหิตสูง/หอบหืด/จิตเวช หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ รวมทั้งบริการเจ็บป่วยเล็กน้อย และบริการส่งเสริมป้องกันโรค อาทิ การคัดกรองโรคเบื้องต้น เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เครียดและซึมเศร้า จ่ายยาคุมกำเนิดหรือถุงยางอนามัย และจ่ายชุดทดสอบการตั้งครรภ์ ที่ร้านยา เพื่อลดปัญหาความแออัด เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ และเพิ่มคุณภาพในการดูแลรักษา รวมทั้งในด้านผู้ป่วย สามารถลดเวลารอรับยาและการเดินทาง ซึ่งปัจจุบันผู้ใช้บัตรทองสามารถรับบริการดังกล่าวได้ที่ร้านยาโดยประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
อ่านข่าวเพิ่มเติม : ภาครัฐและผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ร่วมมือกันจัดกิจกรรมรณรงค์ “ต่อต้านการทุจริตเลือกตั้งทุกรูปแบบ”