img
:::

จุฬาร่วมมือกับไจก้าตั้งศูนย์วิจัยแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล

จุฬาร่วมมือกับไจก้าตั้งศูนย์วิจัยแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ รัฐบาลญี่ปุ่น โดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) และหน่วยงานพันธมิตร เปิดตัวโครงการความร่วมมือในการทำวิจัยขยะพลาสติกในทะเล พร้อมจัดตั้งศูนย์วิจัยในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น

รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์ฯ กล่าวว่า โครงการความร่วมมือในการทำวิจัยขยะพลาสติกในทะเลฯ มีระยะเวลาการดำเนินการ 5 ปี ซึ่งจะมีนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ไทยและญี่ปุ่นสำรวจวิจัยขยะพลาสติกในทะเลไทยและทะเลจีนใต้ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการความร่วมมือศึกษาวิจัยครั้งแรกที่ขยายผลไปถึงทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญ เป็นพื้นที่ที่ตั้งของประเทศที่มีปัญหาขยะพลาสติก ไมโครพลาสติกในทะเลติด 10 อันดับของโลก โดยในปีที่ 1-3 จะร่วมศึกษาวิจัยกับภาคีเครือข่าย เพื่อให้ได้ข้อมูลของที่มาของขยะพลาสติก ไปถึงทิศทางการเคลื่อนที่ของขยะตั้งแต่บนบกสู่ทะเล ช่วงเวลาการเคลื่อนที่ของขยะในทะเล โดยรัฐบาลญี่ปุ่นจะสนับสนุนเครื่องมือสำหรับวิจัยตลอดโครงการความร่วมมือ สำหรับ 3 ปีแรกนี้จะได้ข้อมูลสำคัญนำมาจำลองทางคณิตศาสตร์ ใช้ในการกำหนดมาตรการ ให้คำแนะนำในการจัดการให้หน่วยงานภาครัฐ และประชาชนในการลดขยะพลาสติก และเมื่อครบระยะเวลาวิจัย 5 ปี จะทำให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งมีชีวิต และมนุษย์ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้แนวทางจัดการขยะพลาสติกของไทยมีประสิทธิภาพ รวมถึงประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเซียนด้วย

รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจาภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ กล่าวว่า พลาสติกนอกจากส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ทะเลแล้ว ยังมีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการย่อยสลายของขยะพลาสติกเป็นไมโครพลาสติก และนาโนพลาสติด ซึ่งมีรายงานการวิจัยพบว่าไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในสัตว์น้ำ สัตว์ทะเลจำนวนมาก หากไม่มีการจัดการอย่างจริงจัง ไมโครพลาสติกเหล่านี้ก็จะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ซึ่งบริโภคสัตว์น้ำเป็นอาหารด้วย โดยเฉลี่ยแล้วจะพบไมโครพลาสติกปนเปื้อนกว่า 10,000 ชิ้นต่อคน

จากการสำรวจการใช้งานพลาสติกในประเทศแบบใช้แล้วทิ้งในปี 2562 พบว่า คนไทยใช้พลาสติกเฉลี่ยลดลงจากเดิม 8 ชิ้นต่อคนต่อวัน เหลือเพียง 1-2 ชิ้นต่อคนต่อวัน แบ่งเป็นถุงพลาสติก 1.18 ใบต่อคนต่อวัน ขวดน้ำพลาสติก 1.51 ขวดต่อคนต่อวัน หลอดพลาสติก 0.69 ชิ้นต่อคนต่อวัน แก้วพลาสติก 0.78 ใบต่อคนต่อวัน และก้านสำลี 1 ก้านต่อคนต่อวัน

ข้อมูลข่าวจาก สำนักข่าวไทย

จุฬาร่วมมือกับไจก้าตั้งศูนย์วิจัยแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล (ภาพจาก pixabay)

มาเป็นคนแรกที่แสดงความคิดเห็น

ข่าวเด่นประเด็นร้อน

:::
ข่าวล่าสุด 最新消息icon
回到頁首icon
Loading