กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำเสนอผลงานการวิจัยที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยมีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานการประชุม
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศไทยกำลังเป็นปัญหาที่มีความสำคัญระดับชาติ ซึ่งปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภูมิภาคต่าง ๆ มีความรุนแรง และส่งผลกระทบเชิงลบในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่ประชุมได้ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมวิเคราะห์ปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้เสนอออก 7 มาตรการผลักดันการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ได้แก่
1.มาตรการลดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดทุกจุดอย่างเป็นระบบ ใช้ผลการศึกษาวิจัยสาเหตุการสะสมของควันและฝุ่นละอองในอากาศ เพื่อหยุดการเกิดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดทุกจุดทุกพื้นที่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
2.มาตรการระยะสั้นเร่งด่วนเพื่อลดฝุ่นจากการคมนาคม ลดการใช้รถส่วนบุคคล และรถขนส่งที่เกิดฝุ่น PM 2.5 โดยจะเสนอให้สามารถทำงานที่บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงในช่วงฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน สนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษาใช้บริการขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้าและระบบขนส่งมวลชน และเพิ่มรถเมล์ปลอดควัน โดย อว. จะนำร่องใช้วิธีเหลื่อมเวลาการทำงานของหน่วยงานราชการ เพื่อลดความหนาแน่นของการจราจร และการเกิดฝุ่นในช่วงเวลาเร่งด่วน
3.มาตรการลดและหยุดการเผาในที่โล่งด้วยระบบสารสนเทศ ซึ่งจะทำให้สามารถพยากรณ์ และแจ้งเตือนได้ล่วงหน้า
4. มาตรการเผยแพร่ข้อมูลค่าฝุ่น PM2.5 แบบ Real-time ให้ประชาชนสามารถนำข้อมูลไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมในแต่ละวันได้ และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 โดย วช. จะแจ้งรายงานผลและคำแนะนำประจำวันจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง และเร่งติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่น DustBoy เพิ่มขึ้นให้มีจุดวัด 8,000 จุดทั่วประเทศ
5.มาตรการลดผลกระทบสุขภาพของประชาชน โดยการเฝ้าระวัง แจ้งเตือน และรณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่นได้ รวมทั้งการแจกหน้ากากอนามัยให้แก่ประชาชน ส่งเสริมลดค่าใช้จ่ายของอุปกรณ์วัดคุณภาพอากาศ อุปกรณ์ความปลอดภัย หน้ากากอนามัย โดยลดการเก็บภาษีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงอุปกรณ์ ในราคาที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน
6. มาตรการขับเคลื่อนการวิจัยและใช้ประโยชน์จากการวิจัย โดยจะพัฒนาเซ็นเซอร์วัดอนุภาคฝุ่นในอากาศแบบเรียลไทม์ การพัฒนาและใช้เครื่องลดฝุ่นในรูปแบบต่าง ๆ ประยุกต์ใช้ในเครือข่ายนานาชาติและบริหารความเสี่ยงต่อสุขภาพในเมืองอัจฉริยะ ,ขยายผลโครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน ระยะที่ 3 ,การพัฒนาระบบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ ,การนำวิจัยนวัตกรรมไปจัดการกับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการเผา
7. มาตรการระยะยาว โดยการแก้กฎหมาย ให้มีหน่วยงานเฉพาะที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการแก้ปัญหาเมื่อเกิดภาวะวิกฤติ ,การแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน โดยการร่วมหารือและประเมินร่วมกันทุกปีเพื่อแก้ปัญหา ,การส่งเสริมอาชีพใหม่ที่ยั่งยืนและไม่ปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม ,การจัดตั้งเครือข่ายบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตหมอกควัน ,การเพิ่มและฟื้นฟูพื้นที่ป่าและพืชคลุมดิน รวมทั้งการทำฝายชะลอน้ำ เพื่อให้มีน้ำใช้ในการเกษตร ,การส่งเสริมและควบคุมพัฒนาผังเมือง เพื่อนำไปสู่เมืองรถน้อยและเมืองไร้ควัน โดยมาตรการทั้งหมดจะเป็นส่วนสำคัญที่สามารถทำให้เกิดการแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วตรงจุด ซึ่งเป็นการใช้การวิจัย และเทคโนโลยีมาสร้างประโยนช์ให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อมูลข่าวจาก สำนักข่าวไทย