img
:::

Ingenuity ความสำเร็จของอากาศยานลำแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถบินขึ้นจากผิวดาวเคราะห์ดวงอื่น

Ingenuity ความสำเร็จของอากาศยานลำแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถบินขึ้นจากผิวดาวเคราะห์ดวงอื่น

นับเป็นเวลาร้อยกว่าปีแล้ว ที่สองพี่น้องตระกูลไรต์ประสบความสำเร็จในการบินขึ้นจากพื้นโลกเป็นครั้งแรกด้วยเครื่องบิน และวันนี้ก็จะเป็นอีกวันที่โลกต้องจารึก เมื่อเฮลิคอปเตอร์ Ingenuity ของ NASA ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกันในการบินขึ้นเป็นครั้งแรกจากพื้นดาวอังคาร

หลังต้องเลื่อนกำหนดการบินจากช่วงต้นเดือนด้วยปัญหาเรื่องซอฟต์แวร์มาเป็นวันที่ 14 เมษายน และสุดท้ายก็มีการเลื่อนอีกครั้งจากการที่ทีมงานต้องการทดสอบระบบให้แน่ใจ และแล้วในที่สุดเมื่อเวลา 14.30 น. ที่ผ่านมาวันนี้ (19 เมษายน) ตามเวลาในประเทศไทย การบินครั้งประวัติศาสตร์ของเฮลิคอปเตอร์สำรวจดาวอังคารมูลค่า 85 ล้านดอลลาร์ก็เกิดขึ้น และดำเนินไปจนสำเร็จลุล่วงด้วยดี

สัญญาณถ่ายทอดสดจากดาวอังคารต้องเดินทางผ่านระยะทางไกลนับล้านกิโลเมตรสู่จานสายอากาศ Deep Space Network Antennas จากนั้นก็จะส่งต่อมาที่หอควบคุมของ NASA อีกที นั่นหมายถึงกว่าทีมงานจะทราบผลการบินก็อีกหลายชั่วโมง 

และเมื่อเวลา 17.52 น. สัญญาณยืนยันว่า Ingenuity สามารถเทกออฟขึ้นไปที่ความสูงที่กำหนดไว้ และสามารถแลนดิ้งอย่างปลอดภัย ส่งผลให้ทีมงานในห้องแถลงข่าวต่างพากันปรบมือด้วยความยินดี MiMi Aung ในตำแหน่งผู้จัดการโครงการนี้ชูสองมือแสดงชัยชนะ และได้หยิบแถลงการที่เตรียมไว้ในกรณีเกิดความล้มเหลวออกมาฉีกต่อหน้ากล้อง บรรยากาศความยินดีแผ่ไปทั่วแม้กับทีมงานอีกหลายคนในจอวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ก็ดีใจไม่แพ้กัน

นอกจากข้อมูลตัวเลขยืนยันที่มาจากเครือข่าย Deep Space Network ก็ยังมีภาพขาวดำที่ถ่ายจากกล้องที่ติดไว้ใต้ท้องของเฮลิคอปเตอร์สำรวจดาวอังคาร ซึ่งในภาพจะเห็นเงาของยานขณะลอยตัวชัดเขน นอกจากนี้ภาพขาวดำจะเป็นคลิปภาพสีที่ถ่ายโดยกล้องของหุ่นยนต์ Perseverance ซึ่งจอดห่างออกไปราว 65 เมตร แสดงให้เห็นการบินขึ้นลงของ Ingenuity อย่างชัดเจน

การบินด้วยระบบปีกหมุนบนโลกเราทุกวันนี้เป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัว เรามีโดรนราคาไม่แพงที่ซื้อจากร้านค้าออนไลน์มาทดลองบินเล่นในบ้านกันหลายปีแล้ว หรืออาจเป็นโดรนคุณภาพสูงที่บินทำภารกิจจริงจัง เช่น ถ่ายภาพ ถ่ายภาพยนตร์ บินสำรวจ หรือบินเป็นฝูงเพื่อแปรอักษร จนกลายเป็นเรื่องไม่น่าประหลาดใจ แต่การบินบนดาวอังคารไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด ดาวอังคารนั้นมีอากาศที่เบาบางมาก คิดเป็นความกดอากาศเพียง 0.088 psi หรือไม่ถึง 1% ของความกดอากาศบนผิวโลก ใบพัดของโดรนทั่วไปจึงไม่อาจสร้างแรงยกตัวอย่างเพียงพอ จนต้องมีการออกแบบระบบใบพัดและโรเตอร์โดยเฉพาะขึ้นมา

เฮลิคอปเตอร์ Ingenuity ติดตั้งใบพัดคาร์บอนไฟเบอร์ยาว 1.2 เมตร จำนวน 4 ใบเรียงกันเป็นสองชั้นบนล่าง ชั้นละ 2 ใบพัด ใบพัดทั้งสองชั้นจะหมุนในทิศทางตรงกันข้ามกันที่ความเร็วสูงถึง 2,537 RPM (รอบต่อนาที) หรือเร็วประมาณ ⅔ ของความเร็วเสียง จึงจะเกิดแรงยกมากพอที่จะพาเฮลิคอปเตอร์ขนาดกล่องทิชชูที่มีน้ำหนัก 1.8 กิโลกรัมนี้ขึ้นจากผิวดาวอังคารได้

และเพื่อความปลอดภัย ทีมงานออกแบบให้ขาทั้ง 4 ข้างของ Ingenuity เป็นสปริง เพื่อรองรับการตกลงพื้นของเฮลิคอปเตอร์จากความสูงระดับต่างๆ อีกทั้งมีการถ่วงน้ำหนักให้ตกแบบหงายในทิศทางที่ถูกต้องเสมอ จึงไม่น่าห่วงว่ายานจะตกลมาเสียหาย ยกเว้นตกลงไปในหลุมลึก หรือลงบนพื้นลาดเอียงจนยานพลิกตะแคง

หลังจากวันนี้ เฮลิคอปเตอร์ Ingenuity จะได้รับคำสั่งให้บินทดสอบอีกไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง ตามเส้นทางบินรูปวงรีในพื้นที่ราบกลางหลุมอุกกาบาต JEZERO ซึ่งเป็นจุดลงจอดของ Perseverance ตั้งแต่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา

หลังจากวันนี้คือความแน่ใจว่าการสำรวจดาวเคราะห์ดวงอื่นอาจไม่ต้องไปด้วยระบบล้อที่ชักช้างุ่มง่ามอีกต่อไป เฮลิคอปเตอร์ Ingenuity นั้นแม้ถูกออกแบบให้เบาจนไม่ได้ติดตั้งเครื่องมือสำรวจอะไรไว้นอกจากกล้องขาวดำที่หันลงพื้นกับกล้องสีขนาด 13 เมกะพิกเซลที่หันมองขอบฟ้า แต่เฮลิคอปเตอร์ลำต่อไปคือ Dragonfly ที่ NASA เตรียมส่งไปบินบนดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์ในปี 2030 นั้น จะจัดเต็มไปด้วยอุปกรณ์เครื่องมือมากเท่าที่จะนำไปได้ เพราะสำหรับดวงจันทร์ไททันนั้นไม่ต้องห่วงเรื่องอากาศเบาบางแบบดาวอังคาร ที่นั่นมีอากาศหนามากกว่าโลกเราสี่เท่า การบินจึงเป็นเรื่องง่ายกว่านี้มาก

Ingenuity ความสำเร็จของอากาศยานลำแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถบินขึ้นจากผิวดาวเคราะห์ดวงอื่น

ข่าวเด่นประเด็นร้อน

:::
ข่าวล่าสุด 最新消息icon
回到頁首icon
Loading