นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด ได้แก่ หนอนใยผัก หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก หนอนคืบ ด้วงหมัดผัก ด้วงเต่าแตง ด้วงทำลายใบกุหลาบและใบมะนาว หนอนแมลงนูนหลวง และปลวกทำลายรากมันสำปะหลัง โดยไส้เดือนฝอยจะเข้าไปขยายพันธุ์ในตัวแมลงจนแมลงเหลือแต่ซาก จากนั้นไส้เดือนฝอยจะเคลื่อนที่ลงมาในดินเพื่อรอเข้าสู่แมลงตัวใหม่ต่อไป หรือหากไม่สามารถเข้าถึงตัวแมลงได้จะอาศัยอยู่นิ่ง ๆ ในดินมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน ถ้าดินมีความชื้นเล็กน้อยแสงแดดส่องไม่ถูกตัวไส้เดือนฝอยจะมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นปี จึงเป็นเสมือนกับนักรบใต้ดินที่คอยป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชไม่ให้เข้าทำลายพืชเป็นด่านแรก มีความปลอดภัยต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสภาพแวดล้อม
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การผลิตขยายไส้เดือนฝอยนั้น ทำได้ง่าย เกษตรกรทำใช้เองได้ นอกจากนี้ จะเผยแพร่เทคโนโลยีวิธีการเพาะขยายชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยในโรงผลิตขยายระดับชุมชน เป็นโรงผลิตขยายขนาดเล็กพร้อมติดตั้ง วัสดุมีน้ำหนักเบา แต่มีความแข็งแรง ทนทาน ใช้งานได้นานมากกว่า 10 ปี ทั้งนี้ จะเป็นนวัตกรรมในการปลูกพืชปลอดภัยจากสารเคมีและเกษตรอินทรีย์ สามารถผลิตไส้เดือนฝอยได้จำนวนมากต่อรอบการผลิต เพียงพอต่อการนำไปใช้พ่นกำจัดแมลงครอบคลุมพื้นที่ปลูก 30 ไร่ โดยมีค่าใช้จ่ายในการเพาะขยายไม่เกิน 100 บาท/ไร่ ที่สำคัญเกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะเลี้ยงด้วยตนเองเพื่อให้มีไส้เดือนฝอยใช้กำจัดแมลงศัตรูพืชตลอดฤดูปลูก โดยกรมวิชาการเกษตรมีเป้าหมายติดตั้งโรงผลิตชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยให้แก่เกษตรกร 100 โรง ปัจจุบันติดตั้งแล้ว 65 โรง ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินเกษตรกรต้นแบบที่จะรับการถ่ายทอเทคโนโลยีการผลิตรวมทั้งความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะติดตั้ง
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวอีกว่า โรงผลิตขยายชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงระดับชุมชนทุกโรงที่กรมวิชาการเกษตรผลิตขึ้นมาจะมี QR Code ติดอยู่ที่บริเวณหน้าประตูทางเข้า เกษตรกรหรือผู้สนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตและใช้ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลง สามารถใช้โทรศัพท์มือถือสแกน QR Code เพื่อเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายรวดเร็ว
ข้อมูลข่าวจาก สำนักข่าวไทย