img
:::

ซินจู๋จัดกิจกรรมเล่าเรื่องของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ วิทยากรชาวอินเดียแนะนำเทศกาลรักษาบันดาล

ในเดือนมีนาคมนี้ศูนย์บริการครอบครัวผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ซินจู๋จัดกิจกรรม “กิจกรรมเล่าเรื่องของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่” เชิญ วิทยากรชาวอินเดียมาแนะนำเกี่ยวกับเทศกาลรักษาบันดาล (Raksha Bandhan) ภาพ/นำมาจาก Facebook ศูนย์บริการครอบครัวผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ซินจู๋
ในเดือนมีนาคมนี้ศูนย์บริการครอบครัวผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ซินจู๋จัดกิจกรรม “กิจกรรมเล่าเรื่องของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่” เชิญ วิทยากรชาวอินเดียมาแนะนำเกี่ยวกับเทศกาลรักษาบันดาล (Raksha Bandhan) ภาพ/นำมาจาก Facebook ศูนย์บริการครอบครัวผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ซินจู๋
เว็บไซต์ข่าวรอบโลกสำหรับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่】ผู้แปลและเรียบเรียง/นงค์รักษ์ เหล่ากอคำ (李慧毓)

ศูนย์บริการครอบครัวผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ซินจู๋จัดกิจกรรม “กิจกรรมเล่าเรื่องของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่” เป็นประจำทุกเดือน โดยได้มีการเรียนเชิญผู้บรรยายจากประเทศต่าง ๆ มาแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ในเดือนมีนาคมนี้ได้เรียนเชิญ หลงเอิน วิทยากรชาวอินเดียมาแนะนำเกี่ยวกับเทศกาลรักษาบันดาล (Raksha Bandhan) บ้างก็เรียกว่า ราคี (Rakhi) พร้อมนำพาเด็ก ๆ ทำกิจกรรม “ผูกด้ายศักดิ์สิทธิ์” เพื่อให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมอินเดียไปด้วยกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม : รางวัลวรรณกรรมสำหรับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และแรงงานต่างชาติ ครั้งที่ 8 รางวัลชนะเลิศ 1 แสนเหรียญ

วิทยากรชาวอินเดียนำพาผู้เข้าร่วมทำกิจกรรมมัดด้ายศักดิ์สิทธิ์ ภาพ/นำมาจาก Facebook ศูนย์บริการครอบครัวผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ซินจู๋

เทศกาลรักษาบันดาล (Raksha Bandhan) บ้างก็เรียกว่า ราคี (Rakhi) เป็นเทศกาลของชาวฮินดูที่เฉลิมฉลองความสัมพันธ์ระหว่างพี่ชายกับน้องสาว ในวันเพ็ญแห่งเดือนศรวณะ (Shravana) ซึ่งจะอยู่ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมถือว่าเป็นวันสำคัญที่เฉลิมฉลองกันทั่วอินเดีย เพื่อแสดงออกถึงความรักความผูกพันระหว่างพี่ชายและน้องสาว

ตามธรรมเนียมปฏิบัตินั้นน้องสาวจะผูกด้ายศักดิ์สิทธิ์ราคีบนข้อมือขวาของพี่ชาย และขอพรให้พี่ชายมีอายุยืน พี่ชายก็จะให้สัญญาที่จะปกป้องน้องสาวและให้ของขวัญแก่น้องเป็นการตอบแทน ประเพณีนี้สืบต่อเนื่องมายืนยาวมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ด้ายราคีอาจทำขึ้นจากเส้นไหม หรือเส้นเงินเส้นทอง ประดับด้วยโลหะแวววาวที่นำมาร้อยต่อกัน อาจมีหินกึ่งมีค่าประดับด้วย

มีตำนานมากมายเกี่ยวกับการผูกด้ายราคีเพื่อขอรับการปกป้องคุ้มครองดังกล่าว แต่ตำนานที่นิยมเล่าขานกันมากคือเรื่องราวของ รานีคาร์นาวตี (Rani Karnavati) แห่งจิตตูร์ (Chittor) และจักรพรรดิแห่งราชวงศ์โมกุล ฮุมายุน (Humayun) เป็นหลักฐานสำคัญที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ ในราวคริสตศตวรรษที่ 15 มีสงครามหลายครั้งระหว่างราชปุต ราชวงศ์โมกุล และสุลตาน ในช่วงนั้น รานีคาร์นาวตี ราชินีหม้ายของกษัตริย์แห่งจิตตูร์ ตระหนักว่าพระนางไม่สามารถป้องกันการบุกรุกของ สุลต่านบาฮาดูรชาห์ (Bahadur Shah) แห่งคุชราตได้ พระนางจึงส่งด้ายราคี ไปให้จักรพรรดิฮุมายุน เพื่อขอรับความช่วยเหลือ พระองค์ก็รีบรุดมาช่วยปกป้องพระนางทันที

อ่านข่าวเพิ่มเติม : นักศึกษาชาวพม่าเดินทางเข้ารายงานตัวต่อสตม.เพื่อขอเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด

น้องสาวจะผูกด้ายศักดิ์สิทธิ์ราคีบนข้อมือขวาของพี่ชาย และขอพรให้พี่ชายมีอายุยืน ภาพ/นำมาจากคลังภาพ Pixabay

เทศกาลรักษาบันดาล หรือราคีนี้ ยังมีความสำคัญทางสังคม ที่เน้นแนวความคิดที่ว่าทุกคนควรจะอยู่ร่วมกันอย่างประสานสามัคคีกันเพื่อความสงบสุขในสังคมส่วนรวม ด้วยการผูกด้ายราคีที่ข้อมือของเพื่อนสนิทหรือเพื่อนบ้าน เพื่อย้ำถึงความต้องการอยู่ด้วยกันในสังคมอย่างปรองดองประดุจพี่ชายและน้องสาว และเป็นการให้คำมั่นสัญญาว่าสมาชิกทุกคนในชุมชนว่าจะปกป้องคุ้มครองและดูแลซึ่งกันและกันอีกด้ว

ศูนย์บริการครอบครัวผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ซินจู๋จะจัด “กิจกรรมเล่าเรื่องของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่” ในวันที่ 8 เดือนเมษายน เวลา 14.00 น. ถึง 15.00 น. ณ ห้องสมุดสำนักวัฒนธรรมเทศบาลเมืองซินจู๋ ภายใต้หัวข้อ “เดือนเราะมะฎอน” และ “วันอีด” ของพี่น้องชาวอิสลาม

มาเป็นคนแรกที่แสดงความคิดเห็น

ข่าวเด่นประเด็นร้อน

:::
回到頁首icon
Loading