เที่ยวบินนิวยอร์ก-ซิดนีย์จะเป็นเที่ยวบินแรกจากทั้งหมดสามเที่ยวบินที่จะดำเนินการในปีนี้ นักวิจัยจะดูว่า การบินโดยไม่แวะพักนาน 19 ชั่วโมงจะมีผลต่อร่างกายและจิตใจของผู้โดยสารและสมรรถนะของเครื่องบินอย่างไร ใช้เครื่องบินโบอิง 787-9 บินไปทางทิศตะวันตกข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก จำกัดลูกเรือและผู้โดยสารไว้ที่ 40 คน ส่วนใหญ่เป็นพนักงานของแควนตัสเพื่อให้เครื่องบินบรรทุกน้ำหนักน้อยที่สุด เชื้อเพลิงจะได้เพียงพอต่อการเดินทางเป็นระยะทาง 16,000 กิโลเมตรโดยไม่ต้องแวะเติม คณะนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยออสเตรเลีย 2 แห่งจะขึ้นเครื่องไปด้วยเพื่อสังเกตพฤติกรรมการกินการนอนและระดับฮอร์โมนเมลาโทนินของผู้โดยสาร ขณะที่นักบินจะสวมอุปกรณ์ติดตามคลื่นสมองและการตื่นตัว
นักวิจัยเผยว่า จะติดตามเรื่องความเหนื่อยล้าจากการนั่งเครื่องบินหรือเจ็ตแล็ก จากเขตเวลาที่แตกต่างกันถึง 15 ชั่วโมงระหว่างนิวยอร์กกับซิดนีย์ เพราะวิทยาศาสตร์พื้นฐานระบุว่า หากเวลาออกเดินทางและเดินทางถึงแตกต่างกันมากและทิศการเดินทางไปทางตะวันออกไม่ใช่ตะวันตกจะทำให้รู้สึกแจ็ตแล็กมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าแต่ละคนมีอาการแตกต่างกัน จึงต้องการศึกษาหาสาเหตุแจ็ตแล็กที่แท้จริงเพื่อหาวิธีการลดผลกระทบจากการเดินทางเที่ยวบินระยะไกล
นายอลัน จอยซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอของแควนตันกล่าวว่า ไม่เคยมีสายการบินใดทำแบบนี้มาก่อน เป็นการท้าทายด่านสุดท้ายของการบิน โดยเมื่อปีที่แล้วแควนตัสได้ทดลองให้บริการเที่ยวบินตรงเมืองเพิร์ธ ทางตะวันตกของออสเตรเลียกับกรุงลอนดอนของอังกฤษ ใช้เวลาเดินทางนานถึง 17 ชั่วโมง
ข้อมูลข่าวจาก สำนักข่าวไทย