img
:::
ข่าวทั่วไป

ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ได้ผลไหม? หลายบริษัทสหรัฐงดสวัสดิการ Summer Fridays

สวัสดิการ Summer Fridays คือ การลดชั่วโมงทำงานลง 2-3 ชั่วโมงหรือทั้งวัน ในทุกวันศุกร์ช่วงฤดูร้อน เพื่อส่งเสริมความยืดหยุ่นในการทำงาน แต่มีพนักงานในสหรัฐเพียง 11% เท่านั้นที่เข้าถึงสวัสดิการนี้/ NegativeSpace
สวัสดิการ Summer Fridays คือ การลดชั่วโมงทำงานลง 2-3 ชั่วโมงหรือทั้งวัน ในทุกวันศุกร์ช่วงฤดูร้อน เพื่อส่งเสริมความยืดหยุ่นในการทำงาน แต่มีพนักงานในสหรัฐเพียง 11% เท่านั้นที่เข้าถึงสวัสดิการนี้/ NegativeSpace

นโยบาย"ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์" เริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นในหลายองค์กรทั่วโลก มีการทดลองใช้กันทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยมีหลากหลายวิธีการในการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการเสนอให้มี Summer Fridays ซึ่งหมายถึงการลดชั่วโมงทำงานลง 2-3 ชั่วโมงหรือทั้งวัน ในวันศุกร์ช่วงฤดูร้อน เพื่อส่งเสริมความยืดหยุ่นในการทำงานให้แก่พนักงาน

บริษัทอาจมองว่า “ทำงานที่บ้านในวันศุกร์” กับ “หยุดงาน (ทั้งวันหรือสองสามชั่วโมง) ในวันศุกร์” เป็นสิ่งที่ใช้แทนกันได้ แต่จริงๆ แล้ว สองอย่างนี้ให้ผลประโยชน์แตกต่างกัน/Needpix.com

ที่ผ่านมามีหลายองค์กรตอบรับกับนโยบายนี้มาตั้งแต่ปี 2019 แต่จากการสำรวจของ Gartner ในเดือนพฤศจิกายน 2023 กลับพบว่า มีพนักงานในสหรัฐเพียง 11% เท่านั้นที่รายงานว่า ตนเองสามารถเข้าถึงสวัสดิการ Summer Fridays ได้

เคทลิน ดัฟฟี (Caitlin Duffy) ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของ Gartner HR ชี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทต่างๆ เลิกใช้ Summer Fridays เนื่องจากพนักงานหลายออฟฟิศทำงานจากที่บ้านในวันศุกร์ ซึ่งกลายเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วในสถานที่ทำงานแบบผสมผสาน บริษัทจึงเห็นว่าอาจไม่จำเป็นต้องให้ สวัสดิการ Summer Fridays เพิ่มอีก

วัยทำงานทั่วโลกเผชิญกับ “วิกฤติความเป็นอยู่ที่ดี” ทั้ง Burnout และ Disengagement

อย่างไรก็ตาม ดัฟฟีมองว่าองค์กรต่างๆ ควรระมัดระวัง เพราะการมอบสวัสดิการความยืดหยุ่นในการทำงานประเภทต่างๆ นั้นมีผลประโยชน์ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่วัยทำงานทั่วโลกต่างเผชิญกับ “วิกฤติความเป็นอยู่ที่ดี” ไม่ว่าจะเป็นภาวะหมดไฟ (Burnout) รวมถึงภาวะ Disengagement หรือความผูกพันในงานลดต่ำลงอย่างมากอีกด้วย

“องค์กรต่างๆ อาจมองว่า “การให้ทำงานที่บ้านในวันศุกร์” กับ “การให้หยุดงาน (ทั้งวันหรือสองสามชั่วโมง) ในวันศุกร์” เป็นสิ่งที่ใช้แทนกันได้ แต่จริงๆ แล้ว การตัดขาดการเชื่อมต่อในงานอย่างแท้จริง มีผลที่แตกต่างกับการทำงานจากระยะไกล” ดัฟฟีบอก

ขณะเดียวกัน ปีที่แล้วก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับกรณีที่บางบริษัทมีคำสั่งให้พนักงาน “กลับเข้าทำงานในสำนักงาน” หรือ ROT (Return to office) เหมือนกับช่วงก่อนวิกฤติโรคระบาดโควิด เช่น Goldman Sachs มีคำสั่งให้พนักงานกลับมาที่สำนักงานห้าวันต่อสัปดาห์ และห้ามไม่ให้พนักงานที่ทำงานจากระยะไกลในวันศุกร์ และต้องทำงานเต็มเวลาห้ามเลิกงานก่อนเวลาใดๆ ทั้งสิ้น

ส่วน JP Morgan Chase, Boeing และ UPS ได้เพิ่มข้อกำหนด ROT (Return to office) สำหรับพนักงานให้กลับเข้ามาทำงานในสำนักงาน แม้ว่าพนักงานที่จำเป็นต้องทำงานในออฟฟิศจริงๆ มีเป็นส่วนน้อยเท่านั้น สถานการณ์เหล่านี้ส่งผลให้เกิดความสั่นคลอนในหมู่พนักงาน ด้านฝ่ายทรัพยากรบุคคลขององค์กรเอง ก็กังวลเกี่ยวกับผลกระทบคำสั่ง ROT ว่าจะทำให้องค์กรไม่สามารถดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถเอาไว้ได้

ในมุมของผู้บริหารบริษัท Jellyfish (แพลตฟอร์มด้านวิศวกรรม) มองว่าสวัสดิการนี้สอดคล้องกับแนวคิดทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งให้ผลดีต่อประสิทธิภาพการทำงานได้จริง`/Flickr

ดัฟฟีบอกอีกว่า องค์กรต่างๆ ควรพิจารณาว่าการ “ลดความยืดหยุ่น” ในที่ทำงาน จะส่งผลกระทบต่อพนักงานของตนอย่างไร ก่อนที่จะออกคำสั่งให้กลับเข้าสำนักงาน เพราะถือเป็นการมองข้ามสวัสดิการความยืดหยุ่นของพนักงาน

ประโยชน์ของการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์  ช่วยให้พนักงาน ‘มีเวลาใช้ชีวิต’

ไคล์ เลซี (Kyle Lacy) วัย 40 ปี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของ Jellyfish ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการจัดการด้านวิศวกรรม บริษัทนี้ได้เปิดตัวสวัสดิการ Summer Fridays ให้กับพนักงานบางแผนกของเขาเป็นครั้งแรกในปี 2024 นี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์

นโยบายนี้เปิดทดลองใช้สำหรับพนักงานบางส่วนประมาณ 20 คนในบริษัท โดยให้ลดชั่วโมงการทำงานลงในวันศุกร์ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ให้เลิกงานได้เร็วขึ้นตั้งแต่ 14.00 น. ทุกวันศุกร์ ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ เพื่อให้ พนักงานมี “เวลาอิสระ” ที่จะใช้เพื่อตนเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทำโปรเจ็กต์ให้กับบริษัทให้เสร็จ ไปลงคอร์สเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ทำงานอดิเรก การเดินทาง หรือใช้เวลากับเพื่อนและครอบครัวได้มากขึ้น

“เมื่อทีมทำงานได้ดีและบรรลุเป้าหมาย การหยุดสักสองสามชั่วโมงในวันศุกร์จะไม่ส่งผลกระทบต่องาน ผมเห็นมาแล้วว่าวิธีนี้ได้ผล และเชื่อว่าเมื่อบริษัทให้เวลาพนักงานทำสิ่งที่พวกเขาชอบ พวกเขาจะสนุกกับงานของพวกเขาเช่นกัน” เลซี อธิบาย

แม้ว่า Jellyfish ซึ่งมีพนักงาน 200 คนจะมีสวัสดิการนโยบาย PTO (จ่ายค่าจ้างในวันลาป่วย-ลากิจ-ลาพักร้อน) แบบไม่จำกัดอยู่แล้ว แต่ถึงอย่างนั้นเลซีก็บอกว่าการให้สวัสดิการ “Summer Fridays” เพิ่มเติม แม้จะเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ตาม ก็สามารถปรับปรุงความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจให้พนักงานได้ดีขึ้น เพราะพนักงานบางคนมีปัญหาว่าไม่กล้าลางาน (แม้จะมีสิทธิลาตามกฎหมาย) ถ้าไม่ได้รับคำสั่งอย่างชัดเจน

“เมื่อบริษัทของคุณมีพนักงานที่มีประสิทธิภาพสูงในทีม สิ่งที่ผมค้นพบคือ พวกเขามีแนวโน้มที่จะไม่ยืดหยุ่น ไม่หาเวลาว่างพักผ่อนให้ตนเองหากไม่ได้รับคำสั่ง แม้ว่าจะเป็นองค์กรที่มีการทำงานแบบไฮบริดก็ตาม” เลซี บอก

สัปดาห์ทำงานที่สั้นลง ช่วยปรับปรุงงานและชีวิตของพนักงานได้จริงไหม?

เมื่อมองในภาพรวมพบว่า Summer Fridays เป็นสวัสดิการที่มีความต้องการสูง ยืนยันจากผลสำรวจของ Monster ในเดือนมิถุนายน 2566 พบว่า 41% ของวัยทำงานส่วนใหญ่ต้องการให้บริษัทมีนโยบายทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ หรือการกำหนดให้มีวันหยุดในทุกๆ วันศุกร์

อีกทั้ง 27% ของพนักงานที่ได้รับผลประโยชน์จากสวัสดิการ Summer Fridays (ไม่ว่าจะลดชั่วโมงทำงานหรือได้หยุดทั้งวันในวันศุกร์) รายงานว่า พวกเขาจะพิจารณาลาออก หากบริษัทตัดสวัสดิการนี้ออกไป

นอกจากนี้ พนักงานส่วนใหญ่ที่ได้รับสวัสดิการดังกล่าว บอกว่า นโยบายนี้ไม่ส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานของตน ในขณะที่ 66% ของพนักงานกลุ่มตัวอย่างชี้ว่า สิทธิประโยชน์เหล่านี้ช่วยเพิ่มผลผลิตของพวกเขาได้อีกต่างหาก

ในขณะเดียวกัน การสนับสนุนแนวคิด “ทำงานสัปดาห์ละ 4 วันตลอดทั้งปี” ได้เติบโตขึ้นทั่วทั้งธุรกิจและผู้ร่างกฎหมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทหลายสิบแห่งทั่วโลกได้นำแนวคิดนี้มาปรับใช้ให้สัปดาห์การทำงานสั้นลงอย่างถาวร หลังจากการทดลองใช้แล้วได้ผล จนแนวคิดนี้ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย ซึ่งมันสามารถช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน สร้างความสุขให้พนักงาน และนำมาซึ่งผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ดี

ล่าสุด.. มีรายงานด้วยว่า ในสภาคองเกรส ส.ว. เบอร์นี แซนเดอร์ส จากรัฐเวอร์มอนต์ สหรัฐ เพิ่งเปิดตัวกฎหมายที่จะลดเวลาทำงานมาตรฐานต่อสัปดาห์ลงเหลือ 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยไม่ตัดค่าจ้าง

ในมุมของนายจ้าง ดัฟฟี บอกว่าเขาเองไม่ได้รู้สึกกังวลว่า การที่บางบริษัทจะเลิกให้สวัสดิการ Summer Fridays นั้นจะไปกระทบต่อเทรนด์ “ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์” เพราะตามรายงานการสำรวจของ Gartner ชี้ว่า วัยทำงานในสหรัฐฯ ประมาณ 10% พวกเขามีวันทำงานสัปดาห์ละ 4 วันตลอดทั้งปี และอัตราส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

ขณะที่การสำรวจจาก Morning Consult ในปี 2023 พบว่า โดยรวมแล้วพนักงานในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ถึง 87% บอกว่าพวกเขาสนใจในนโยบายการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ และ 82% ของวัยทำงานในกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่า แนวคิดทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะผลักดันให้แนวคิดนี้ประสบความสำเร็จในวงกว้าง

มาเป็นคนแรกที่แสดงความคิดเห็น

ข่าวเด่นประเด็นร้อน

ข่าวล่าสุด 最新消息icon
回到頁首icon
Loading