img
:::

กรมปศุสัตว์ของไทยยืนยันโรค PRRS ในสุกรไม่ติดต่อสู่คน

กรมปศุสัตว์ของไทยยืนยันโรค PRRS ในสุกรไม่ติดต่อสู่คน

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome (PRRS) ในหมูที่ จ.พะเยา ทำให้ต้องทำลายสุกรในรัศมีที่กำหนดจากจุดเกิดโรค เพื่อลดปริมาณสุกร ซึ่งจะลดความเสี่ยงที่จะเสียหายจากการแพร่ระบาด

สำหรับ โรค PRRS จะทำให้เกิดกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจ พบได้ในสัตว์จำพวกสุกร ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมีกีบคู่ ทั้งที่เป็นสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันถึงการติดเชื้อในสัตว์ชนิดอื่น รวมทั้งไม่ติดต่อสู่คน สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Arteriviridae แบ่งออกเป็น 2 จีโนไทป์ ได้แก่ ไทป์ 1 กลุ่มสายพันธุ์ยุโรป และไทป์ 2 กลุ่มสายพันธุ์อเมริกา ต่อมาปี 2549 พบการระบาดของไวรัสไทป์ 2 สายพันธุ์รุนแรงในจีนและประเทศในแถบอาเซียน

สำหรับการติดต่อของเชื้อผ่านทางรก ทางน้ำนม หรือจากการสัมผัสโดยตรงกับสุกรที่ติดเชื้อ ผ่านทางอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำเชื้อ สิ่งคัดหลั่ง หรือแม้แต่การรับเชื้อทางอากาศ ทำให้เกิดการติดเชื้อวนเวียนในฝูงสุกร นอกจากนี้ ยังพบการติดต่อผ่านทางสัตว์พาหะ เช่น ยุง อาการและความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ การจัดการฟาร์ม การสุขาภิบาล ระบบการหมุนเวียนอากาศ และสุขภาพของสุกรในฝูง โดยสุกรตัวเต็มวัยอาจคลอดก่อนกำหนด แท้งในระยะท้ายของการตั้งท้อง ลูกที่คลอดอ่อนแอ อัตราลูกตายแรกคลอดสูง ส่วนสุกรเล็กมักมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แคระแกร็น โตช้า และพบโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย เป็นโรคที่ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ เมื่อพบอาการต้องสงสัยต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เพื่อเก็บตัวอย่างไปตรวจยืนยันโรค

นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวต่อว่า เกษตรกรต้องให้ความสำคัญต่อการจัดการฟาร์ม ไม่ควรให้รถรับซื้อสุกรทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถที่มีสุกรจากฟาร์มอื่นอยู่บนรถ เข้ามาในบริเวณฟาร์ม และไม่ควรให้พนักงานของฟาร์มเข้าไปสัมผัสกับรถรับซื้อสุกรนั้น เพราะรถดังกล่าวอาจปนเปื้อนเชื้อโรคจากการขนส่งสุกรป่วยครั้งก่อน หากนำสุกรมาใหม่ต้องแยกกักจนแน่ใจว่าไม่ป่วยเป็นโรค PRRS หากพบสุกรป่วยหรือตายด้วยโรค PRRS ให้ทำลายสุกรป่วยด้วยการฝังหรือเผาเท่านั้น ไม่อนุญาตให้เคลื่อนย้ายสุกรป่วยออกจากฟาร์ม ส่วนสุกรที่เหลือในฟาร์ม อนุญาตให้เคลื่อนย้ายไปโรงฆ่าสัตว์เท่านั้น

ขณะนี้กรมปศุสัตว์ใช้มาตรการลดความเสี่ยงตามแนวทางป้องกันโรคระบาดในสุกรที่เป็นวาระแห่งชาติ หากผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันพบสุกรเป็นโรค PRRS ให้ทําลายสุกรที่ป่วยหนัก หรือสุกรที่พิจารณาแล้วว่าไม่สามารถรักษาให้หายได้ หรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นแหล่งการแพร่กระจายของโรคต่อไป โดยมีค่าชดใช้ในการทำลายร้อยละ 75  ของราคาสุกร เพื่อลดความเสียหาย ป้องกันไม่ให้โรคระบาดเป็นวงกว้าง

ข้อมูลข่าวจาก สำนักข่าวไทย

ข่าวเด่นประเด็นร้อน

:::
回到頁首icon
Loading