นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรคของไทย เผยว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้มาลาเรีย ปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. –17 ก.ย. 2563 พบผู้ป่วยแล้วในพื้นที่ 51 จังหวัด รวม 3,415 ราย เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ ยะลา 1,070 ราย รองลงมาคือตาก 851 ราย และกาญจนบุรี 425 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ ร้อยละ 73 เป็นคนไทย ส่วนอีกร้อยละ 28 เป็นชาวต่างชาติ โดยกลุ่มอายุที่พบป่วยมากที่สุด ได้แก่ ช่วงอายุ 25-44 ปี กลุ่มอาชีพที่พบป่วยมากที่สุดได้แก่ เกษตรกร รองลงมาคือ เด็กนักเรียน แม้ว่าปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียจะลดลงมาก แต่ประเทศไทยยังมีโรคไข้มาลาเรียอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าเขา น้ำตก โดยคาดว่าจะยังพบผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียเพิ่มขึ้นได้ในช่วงนี้ เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมต่อการเจริญพันธุ์ของยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรคนี้ กรมควบคุมโรค จึงเตือนให้เฝ้าระวังภัยจากโรคไข้มาลาเรีย หรือที่รู้จักกันในชื่อ ไข้จับสั่น ไข้ป่า ไข้ดง ไข้ร้อนเย็น ไข้ดอกสัก หรือแม้แต่ ไข้ป้าง
โรคไข้มาลาเรีย เป็นโรคที่มียุงก้นปล่อง เป็นพาหะนำโรค โดยยุงก้นปล่องเป็นยุงที่ออกหากินตอนกลางคืน เมื่อยุงกัดผู้ป่วยที่มีเชื้อไข้มาลาเรีย แล้วไปกัดคนอื่นต่อก็จะปล่อยเชื้อไข้มาลาเรียเข้าสู่คน ซึ่งอาการเริ่มแรกของไข้มาลาเรียจะเกิดขึ้นหลังจากถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัดประมาณ 10-14 วัน โดยจะจับไข้ไม่เป็นเวลา ไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ ตาเหลือง ตับหรือม้ามโต อาจมีอาการคลื่นไส้และเบื่ออาหารได้ หลังจากนั้นจะจับไข้เป็นเวลา มีอาการหนาวๆ ร้อนๆ เหงื่อออก ผู้ป่วยจะอ่อนเพลียและเหนื่อย หากมีอาการป่วยดังกล่าวภายหลังมีประวัติเคยเข้าไปในป่า หรืออาศัยอยู่ในป่าในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ถึง 2 เดือนก่อนเริ่มป่วย ให้รีบนำไปพบแพทย์
ข้อมูลข่าวจาก กรมประชาสัมพันธ์