“หุ่นยนต์ทางการแพทย์” เป็นเทคโนโลยีที่มีการคิดค้นและพัฒนามายาวนานเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการวิธีรักษาที่ทันสมัย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูง ก้าวพ้นความบกพร่องของอดีตที่ผ่านมาด้วยการใช้สมองกลอันชาญฉลาดในการสั่งงานหุ่นยนต์ให้ทำงานตามวัตถุประสงค์การใช้งานของทีมแพทย์ เริ่มตั้งแต่การฟื้นฟู ช่วยเหลือการเจริญเติบโตของวัยเด็กจนไปถึงการช่วยเหลือการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ
รวมถึงการผ่าตัดที่ครอบคลุมถึงความสามารถในการทำงานร่วมด้วยกับทางทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการทำการผ่าตัดทางไกลซึ่งสามารถควบคุมวิธีการรักษาต่างสถานที่ได้ ปัจจุบันโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนต่างมีการนำนวัตกรรมหุ่นยนต์ทางการแพทย์เข้ามาช่วยในการรักษา ดูแลผู้ป่วย
วันนี้ (20 มิ.ย.2567) โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้เปิด “ศูนย์การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ “The da Vinci Xi” หนึ่งในเทคโนโลยีการผ่าตัดผ่าก้องแบบแผลเล็ก (Minimal Invasive Surgery:MIS) เป็นการผ่าตัดที่แม่นยำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ลดความเสี่ยงให้ผู้ป่วยผ่าตัด เจ็บน้อย และฟื้นตัวเร็ว
ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ “The da Vinci Xi” ช่วยให้มีความแม่นยำ รักษาได้ตรงจุด โดยเฉพาะการผ่าตัดในบริเวณที่มีความซับซ้อนและเข้าถึงยาก ลดความเสี่ยง ลดความเจ็บปวด ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วภายหลังการผ่าตัด/Wikimedia Commons
นพ.เอกกิตติ์ สุรการ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่าสถิติการผ่าตัดในโรงพยาบาลกรุงเทพนั้น จะอยู่ที่ 20-25 รายต่อวัน โดยในจำนวนดังกล่าวจะมีการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ 1-2 รายต่อวัน หรือประมาณ 5-10% ของการผ่าตัด ซึ่งจำนวนตัวเลขดังกล่าวอาจจะยังไม่มาก เนื่องจากการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์จะใช้ในการผ่าตัดที่มีความยากและซับซ้อน ต้องการเทคนิคขั้นสูง เช่น โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งไต ส่วนการผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อน เช่น ผ่าตัดไส้ติ่ง จะใช้การเทคนิคการผ่าตัดเดิม
“หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดดาวินชี (da Vinci Xi)” เป็นระบบที่พัฒนาจากประเทศสหรัฐอเมริกา และมีการใช้งานตั้งแต่ปี 2000 มีการผ่าตัดด้วยเครื่องดังกล่าวมากกว่า 10ล้านครั้งทั่วโลก ทั้งนี้ ในรพ.กรุงเทพ ขณะนี้มีเครื่องเดียว ซึ่งราคารวมภาษีเกินกว่า 100 ล้านบาท
“โรงพยาบาลกรุงเทพ ตั้งเป้าเป็นโรงพยาบาลชั้นนำด้านหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดในระดับภูมิภาคอาเซียน จึงได้ลงทุนกว่า 200 ล้านบาทในการเปิดศูนย์การผ่าตัด“The da Vinci Xi” ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพ ประสิทธิภาพในการรักษาให้แก่ผู้ป่วยของโรงพยาบาลด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ “The da Vinci Xi” ช่วยให้การผ่าตัดมีความแม่นยำ รักษาได้ตรงจุด โดยเฉพาะการผ่าตัดในบริเวณที่มีความซับซ้อนและเข้าถึงยาก ช่วยลดความเสี่ยงให้กับผู้ป่วยระหว่างการรักษา ลดความเจ็บปวด อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วภายหลังการผ่าตัด” นพ.เอกกิตติ์ กล่าว
ปัจจุบัน การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ สามารถช่วยผู้ป่วยได้เดือนละ 30 กว่าราย ซึ่งในแต่ละวัน สามารถผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ได้มากสุดเพียง 3 ราย แต่ถ้าเป็นการผ่าตัดใหญ่อาจจะได้เพียง 1-2 รายเท่านั้น
“การเปิดศูนย์การผ่าตัด The da Vinci Xi เราไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ป่วยโรงพยาบาลกรุงเทพ หรือโรงพยาบาลในเครือเท่านั้น แต่ผู้ป่วยทุกโรงพยาบาลสามารถเข้ารับการรักษาได้ หากแพทย์ประจำตัวได้ส่งผู้ป่วยมาปรึกษา ก็จะเปิดกว้างให้มาปรึกษากับทีมแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีที่สุด เพราะเราต้องการให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์มากที่สุด และอยากทำให้ต้นทุนเฉลี่ยลดลง ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้” นพ.เอกกิตติ์ กล่าว
การเปิดศูนย์การผ่าตัด The da Vinci Xi ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ป่วยโรงพยาบาลกรุงเทพ หรือโรงพยาบาลในเครือเท่านั้น แต่ผู้ป่วยทุกโรงพยาบาลสามารถเข้ารับการรักษาได้/Public Domain Pictur
ทั้งนี้ โรงพยาบาลกรุงเทพ ตั้งเป้าจะเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ประมาณ 500-1,000 คน รองรับผู้ป่วยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยการลงทุนในการเปิดศูนย์การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ สอดคล้องกับวิจัยทัศน์ และแผนงานระยะเวลา 5 ปี ในการขยายขีดความสามารถในการผ่าจัดด้วยหุ่นยนต์ให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น ศัลยกรรมหู คอ จมูก ควบคู่กับการลงทุนด้วยพัฒนาทักษะ การศึกษาและอบรม รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการเพิ่มสิทธิการรักษาให้แก่ผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น สิทธิบัตรทอง หรือสิทธิประกันสังคม รวมถึงประกันสุขภาพต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพ ในราคาที่จับต้องได้