พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมา แม้บางหน่วยงานจะใช้มาตรการควบคุมการเล่นดอกไม้เพลิง ประทัด พลุ ในช่วงเทศกาลลอยกระทง แต่ยังมีประชาชนได้รับอันตรายจากการเล่นดอกไม้เพลิง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ดังนั้นหากเป็นไปได้ขอให้ลดการเล่นดอกไม้เพลิง ประทัด พลุ เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่นที่อยู่บริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้ามจุดในร้านอาหาร สถานบันเทิง และแหล่งชุมชนที่มีผู้คนจำนวนมาก เพราะอาจเกิดอันตรายและเพลิงไหม้ได้ ทั้งนี้ความร้อนของประทัดสามารถทำให้ผิวหนังไหม้ หากสัมผัส หรือสูดดมเอาสารเคมีที่อยู่ในรูปของเหลว ผง ไอระเหย และควันพิษเข้าสู่ร่างกาย เช่น สารโปแตสเซียมเปอร์คลอเรต สารซัลเฟอร์ หรือกำมะถัน สารโปตัสเซียมไนเตรต สารแบเรียมไนเตรต จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง หู ตา จมูก
โดยเฉพาะสารแบเรียมไนเตรต มีพิษมากอาจทำลายตับ ม้าม และยังทำให้เกิดอัมพาตที่แขน ขา บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต นอกจากนี้การจุดแต่ละครั้ง อาจก่อให้เกิดเสียงกระแทกสูงกว่า 130 เดซิเบล เอ ทำให้เกิดอาการหูตึงชั่วคราว หากได้ยินติดต่อกันเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดอาการหูตึงถาวร ซึ่งตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ได้กำหนดบทลงโทษ สำหรับการเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง จนก่อให้เกิดเสียงดังรบกวนอาจเป็นเหตุรำคาญ ต้องระวางโทษตามมาตรา 74 จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อมูลข่าวจาก กรมประชาสัมพันธ์