ช่วงที่ผ่านมาทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกปัดฝุ่นปรับโฉมมาตรการช่วยเหลือทางการเงินโควิด-19 ออกมาใช้ 2 รูปแบบ สินเชื่อฟื้นฟู (ปรับจาก Soft Loan เดิม) และ พักทรัพย์ พักหนี้ (โกดังพักหนี้) ทำให้ฝั่งธนาคารของรัฐเดินหน้าช่วย SMEs โฟกัสในกลุ่มที่หลากหลาย
ธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส. ออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs เกษตร และสถาบันเกษตรกร ซึ่งไม่ให้ถูกกดราคาบังคับขายทรัพย์สิน และสามารถกลับมาสร้างงานและทำรายได้เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น โดยมีรายละเอียดสำคัญ ได้แก่
1. สินเชื่อฟื้นฟู วงเงินรวม 5 พันล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 2% ช่วง 2 ปีแรก และปีต่อไปคิดดอกเบี้ย 4.875% ต่อปี หรือ 6.50% ต่อปี ตามประเภทลูกค้า โดยรัฐบาลรับภาระจ่ายดอกเบี้ยแทนในช่วง 6 เดือนแรก กำหนดระยะเวลาชำระคืนภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ลูกค้าได้รับเงินกู้ หรือตามที่ ธปท. กำหนด โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อตามมาตรการนี้
โดยจะให้สินเชื่อในผู้ประกอบการ ทั้งที่เป็นเกษตรกร บุคคล ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สหกรณ์ภาคการเกษตร และสหกรณ์นอกภาคการเกษตรที่ประกอบธุรกิจพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และบริการ แบ่งเป็น
- ลูกค้าเดิม สามารถขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมสูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อธุรกิจ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หรือ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ไม่เกิน 150 ล้านบาท โดยให้นับรวมวงเงิน Soft Loan เดิมที่เคยได้รับ
- กรณีลูกค้าใหม่ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อธุรกิจกับสถาบันการเงินทุกแห่ง ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 กู้ได้ไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท
2. มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงินรวม 5 พันล้านบาท โดยจะให้กลุ่มลูกหนี้ที่มีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันเงินกู้กับ ธ.ก.ส. ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564 ในการตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ จะให้สิทธิ์ลูกค้าที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือบุคคลอื่นซึ่งผู้ประกอบธุรกิจและเจ้าของทรัพย์สินกำหนด สามารถเช่าทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันและซื้อคืนได้ภายตามระยะเวลาที่กำหนด ไม่เกิน 5 ปี
กรณีมีต้นเงินและดอกเบี้ยส่วนที่เหลือจากการตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ จะดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ กำหนดอายุสัญญาไม่เกิน 20 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรก และปีต่อไป กรณีเป็นผู้ประกอบการและสถาบัน คิดอัตราดอกเบี้ย MLR-1 (ปัจจุบัน MLR เท่ากับ 4.875% ต่อปี) และกรณีเป็นเกษตรกรและบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-1 ต่อปี (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.50% ต่อปี)
นอกจากนี้ สามารถขอสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมตามมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) ได้
ทั้งนี้ คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการต้องประกอบธุรกิจในประเทศไทย มีสถานะไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และไม่เป็นบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ( SET) โดยธนาคารจะให้บริการตั้งแต่วันนี้ – 9 เมษายน 2566