กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) มหกรรม Taiwan Expo 2022 ซึ่งถือเป็นแพลตฟอร์มในการขยายตลาดในกลุ่มประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ที่จัดโดยกรมการค้าต่างประเทศ (BOFT) กระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกแห่งไต้หวัน (TAITRA) ได้เปิดฉากขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยไฮไลท์หลักของงานในครั้งนี้ คือการฟื้นฟูการจัดนิทรรศการในสถานที่จริงในต่างแดน ในยุคหลังโควิด - 19 โดยได้เปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กัน ในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน (Siam Paragon)
โดยนายหวงจื้อฟาง (黃志芳) ผู้อำนวยการ TAITRA ทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีเปิด นอกจากนี้ ยังได้เชิญนายหลี่ก้วนจื้อ (李冠志) รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศของไต้หวัน นายสัณห์ อรุณรักษ์ติชัย รองผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย (ไทเป) นายจวงสั่วฮั่น (莊碩漢) ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย และนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เข้าร่วม เพื่อเชื่อมโยงพิธีเปิดมหกรรมทั้งในไต้หวัน - ไทย เข้าด้วยกัน โดยไร้ซึ่งข้อจำกัดด้านระยะทาง
ในระหว่างพิธีเปิด ผอ.หวงฯ ได้เปิดตัวในฐานะนักวิศวกรแห่งเมืองอัจฉริยะ โดยเข้าฉากมาพร้อมกับอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ที่บินขนาบข้าง สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของสังคมในอนาคตที่มุ่งสู่การพัฒนาเทคโนโลยี Artificial Intelligence of Things (AIoT) โดยงานในปีนี้จัดตั้งขึ้นภายใต้ 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ เมืองอัจฉริยะและการผลิตอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มโอกาสแห่งความเป็นไปได้ให้แก่อุตสาหกรรมระหว่างไต้หวัน - ไทย รวมถึงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
โดยมหกรรมในปีนี้จัดตั้งขึ้นรวม 5 มิติ โดยอ้างอิงจากความร่วมมือทางอุตสาหกรรมระหว่างไต้หวัน - ไทย ประกอบด้วย “การแพทย์อัจฉริยะ” “การผลิตอัจฉริยะ” “เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” “การบริโภคภายในประเทศ” และ “การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” โดยได้จัดตั้งคูหาภาพลักษณ์รวม 11 รายการ ได้แก่ สินค้าพรีเมียมของไต้หวัน การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ และเทคโนโลยีจอแสดงผลสำหรับการแพทย์อัจฉริยะ อีกทั้งยังมีคูหาอุตสาหกรรมรวม 4 แขนง ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์กรวมถึงเครื่องกลไฟฟ้า การเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องจักรกลและชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ รวมทั้ง Lifestyle การดำเนินชีวิต โดยมีผู้ประกอบการรวม 189 รายเข้าร่วมจัดแสดงสินค้าและเทคโนโลยี ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้มีโอกาสเห็นเทคโนโลยีขั้นสูงและสินค้าคุณภาพดีที่มีความโดดเด่นของไต้หวัน
โดยในช่วงท้ายของกิจกรรม เจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียม “ข้าวเหนียวมะม่วง” ของไทย โดยใช้มะม่วงพันธุ์พิเศษจากไต้หวัน มาเสิร์ฟให้ผู้ร่วมงานในไต้หวันได้ลิ้มลอง ส่วนที่ไทย ได้มีการจัดเตรียม “ชานมไข่มุก” ของไต้หวันที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับนานาชาติ โดยได้ใช้ใบชาของไทยเป็นส่วนผสมหลัก บรรยากาศการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและอาหารเลิศรสระหว่างไต้หวัน - ไทย ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และด้านอื่น ๆ ระหว่างไต้หวัน - ไทย อย่างแนบแน่น โดยมหกรรม Taiwan Expo ในปีหน้า จะจัดขึ้นในรูปแบบสถานที่จริงทั้งหมด เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไต้หวันมุ่งหน้าสู่การพัฒนาในตลาดตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่