img
:::

มหาวิทยาลัยทักษิณ คิดค้นนวัตกรรมกรีนซิลเวอร์นาโน เคลือบหน้ากากอนามัย ป้องกันเชื้อโรค

มหาวิทยาลัยทักษิณ คิดค้นนวัตกรรมกรีนซิลเวอร์นาโน เคลือบหน้ากากอนามัย ป้องกันเชื้อโรค

อาจารย์ ดร.กรกนก อุบลชลเขต อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมยางและพอลิเมอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ นักวิจัยรุ่นใหม่ที่ได้ทดลองวิจัยนำโลหะเงิน หรือซิลเวอร์ (Silver) ซึ่งเป็นโลหะที่มีประสิทธิภาพโดดเด่นในการต่อต้านเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส มาใช้ในงานวิจัยโดยได้นำเอานาโนเทคโนโลยี มาทำให้โลหะเงินมีขนาดเล็กลงในระดับนาโนเมตร เรียกว่า "อนุภาคซิลเวอร์นาโน (Silver Nano)" อนุภาคซิลเวอร์นาโน ที่มีขนาดเล็กนี้ทำให้ไปเพิ่มพื้นที่ผิวในการสัมผัส ระหว่างอนุภาคซิลเวอร์นาโน กับเชื้อโรค ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการต่อต้านเชื้อโรคดีขึ้นกว่าเดิมหลายร้อยเท่า

อาจารย์ ดร.กรกนก กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการทำซิลเวอร์นาโน ที่ทางมหาวิทยาลัยได้คิดค้น จะใช้กรรมวิธีสีเขียว หรือ "Green Synthesis" มาผลิตซิลเวอร์นาโน ซึ่งเทคนิคนี้ได้นำวัสดุจากธรรมชาติที่หาได้ง่าย ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และราคาถูกมาทดแทนการใช้สารเคมีอันตราย เป็นกระบวนการที่ใช้สารจากธรรมชาติ คือ น้ำตาลเป็นวัสดุหลักในการสังเคราะห์ อีกทั้ง ได้พัฒนาขั้นตอนในการผลิตให้ทำง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน มีความปลอดภัย และต้นทุนต่ำ โดยมีส่วนประกอบหลัก คือ น้ำ น้ำตาล และเกลือของเงิน หรือซิลเวอร์ไนเตรท

 หลังจากได้กรีนซิลเวอร์นาโน แล้วก็นำมาเคลือบหน้ากากอนามัยชนิดผ้า ทำให้มีประสิทธิภาพในการต่อต้านเชื้อโรคที่ดี มีต้นทุนถูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การนำนวัตกรรมกรีนซิลเวอร์นาโน สำหรับหน้ากากอนามัยชนิดผ้า ถือเป็นการนำผลงานทางวิชาการมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยทักษิณ คือ "มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม" ได้อย่างแท้จริง

ข้อมูลข่าวจาก กรมประชาสัมพันธ์

มาเป็นคนแรกที่แสดงความคิดเห็น

ข่าวเด่นประเด็นร้อน

ข่าวล่าสุด 最新消息icon
回到頁首icon
Loading