นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ปัจจุบันการเดินทางเรือโดยสารในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นระบบขนส่งที่ไม่มีปัญหาสภาพจราจรติดขัด รวมทั้งมีแหล่งท่องเที่ยว 2 ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ปริมาณผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวเติบโตเพิ่มขึ้นปีละร้อยละ 10 ปัจจุบันเรือด่วนเจ้าพระยามีผู้ใช้บริการมากกว่าวันละ 50,000 คน เรือด่วนคลองแสนแสบมากกว่าวันละ 20,000 คน ดังนั้น กรมฯ จึงตั้งเป้าหมายปรับปรุงเพื่อยกระดับท่าเรืออย่างน้อย 10 แห่ง เพื่อเป็นการเพิ่มมาตรฐานให้ท่าเรือสามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งอื่น โดยเฉพาะขนส่งทางรางหรือรถไฟฟ้าที่จะเป็นโครงข่ายคมนาคมสำคัญของกรุงเทพฯ ในอนาคต รวมถึงปรับปรุงท่าเรือที่จะเป็นจุดเชื่อมโยงการท่องเที่ยว
นายวิทยา กล่าวว่า กรมฯ มีการแบ่งกลุ่มเป้าหมายพัฒนา 3 ส่วน โดยในส่วนเชื่อมต่อระบบราง ประกอบด้วย ท่าเรือพระนั่งเกล้าเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีม่วง ท่าเรือพระราม 7 กับสายสีแดง ท่าเรือบางโพกับสายสีน้ำเงิน ท่าเรือราชินีและท่าเรือกรมเจ้าท่ากับสายสีน้ำเงิน และท่าเรือสาทรกับสายสีเขียว ส่วนท่าเรือที่มีการปรับปรุงเพื่อยกระดับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมรอบเกาะรัตนโกสินทร์ คือ ท่าเรือท่าช้าง ท่าเรือท่าเตียน และท่าเรือวัดเชตุพน และสุดท้ายท่าเรือที่เอกชนก่อสร้างเพื่อเป็นแลนด์มาร์คศูนย์การค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ท่าเรือยอดพิมาน ท่าเรือล้ง ท่าเรือไอคอนสยาม และท่าเรือเอเชียทีค ซึ่งท่าเรือเหล่านี้กรมฯ จะเข้าไปกำกับดูแลให้การใช้บริการเรือโดยสารเกิดความปลอดภัยและผู้ใช้บริการมีความสะดวก
สำหรับท่าเรือที่มีกำหนดแล้วเสร็จ ได้แก่ ท่าเรือกรมเจ้าท่า มีกำหนดเสร็จ 28 ธ.ค.2562 ท่าเรือวัดเชตุพน และท่าเรือสาทร เสร็จ ก.ค.2563 ท่าเรือราชินีและท่าเตียน เสร็จ ส.ค.2563 และท่าเรือท่าช้าง 5 ธ.ค. 2563 เป็นต้น
ข้อมูลข่าวจาก สำนักข่าวไทย