[เว็บไซต์ข่าวรอบโลกสำหรับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่] ตามข้อมูลจาก“โรงพยาบาลพญาไท” ระบุว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่มีโอกาสรักษาให้หายได้ เพียงต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม เริ่มจากการสอบถามอาการ ผลกระทบที่เกิดขึ้น ระดับความรุนแรง โรคประจำตัว ยาที่รับประทานเป็นประจำ ไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวัน จากนั้นแพทย์เฉพาะทางจะเป็นผู้ประเมินว่าควรรักษาแบบใด ถ้าหากสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการบ่งชี้ว่าอาจเป็นโรคซึมเศร้าควรรีบมาพบแพทย์ทันทีการพูดคุยกัน การถามไถ่กันด้วยความห่วงใยเป็นสิ่งที่ดีที่ควรมอบให้กันและกันอย่างสม่ำเสมอ เพราะเราไม่รู้เลยว่าใครบ้างที่กำลังขาดกำลังใจ ใครบ้างที่กำลังหดหู่กับชีวิต หรือใครบ้างที่กำลังตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า ฉะนั้นเราต้องสังเกตและเฝ้าระวังความผิดปกติให้ดี ที่สำคัญต้องหมั่นดูแล “ใจ” ของตัวเอง และคนที่คุณรักให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วย
อ่านข่าวเพิ่มเติม: ศูนย์ศึกษาสังคมนครเกาสง จัดงาน "เทศกาลภาพยนตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ชมฟรี 4 สัปดาห์ติดต่อกัน!
ตามข้อมูลจาก “โรงพยาบาลพญาไท” อาการของ “โรคซึมเศร้า” สำรวจง่ายๆ ตาม 9 ข้อ ดังนี้
1. มักมีอารมณ์เชิงลบ มีอารมณ์เศร้า ท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวังอย่างต่อเนื่อง ร้องไห้โดยไม่ทราบสาเหตุ มีความกังวลหรือหงุดหงิดมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานและความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง
2. เบื่อหน่ายสิ่งรอบตัว เก็บตัว ไม่อยากพบไม่อยากคุยกับใคร เลิกสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบทำ
3. พฤติกรรมการกินผิดปกติ เบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากขึ้น กินน้อยไป กินมากไปทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงผิดปกติ
4. มีปัญหาในการนอน นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท หรือนอนมากจนเกินไป
5. กระวนกระวายหรือเฉื่อยชา มีอาการกระสับกระส่าย กระวนกระวายมากเกินไป หรือมีอาการตรงกันข้าม คือ เฉื่อยชา เคลื่อนไหวช้าลง
6. อ่อนเพลียง่าย มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีเรี่ยวแรงที่จะทำอะไรทั้งสิ้น
7. สมาธิสั้น ความจำแย่ลง สมาธิในการทำสิ่งต่างๆ และความสามารถในการคิดและการตัดสินใจลดลง
8. สูญเสียความมั่นใจ รู้สึกตนเองไร้ค่า คิดว่าตนเองเป็นภาระ สูญเสียความมั่นใจในตนเอง รู้สึกผิดและโทษตนเองอยู่ตลอดเวลาในทุกๆ เรื่อง
9. ไม่อยากมีชีวิตอยู่ คิดเรื่องความตายหรือการฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้ง
ข้อสำรวจข้างต้นเป็นเกณฑ์ที่แพทย์ใช้ในการวินิจฉัยโรคซึมเศร้า หากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดนั้น มีอาการอย่างน้อย 5 อาการขึ้นไป มีอาการในข้อ 1 หรือข้อ 2 ร่วมด้วยอย่างน้อย 1 ข้อ มีอาการตลอดทั้งวัน หรือ เป็นแทบทุกวัน ต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด และหาแนวทางแก้ไขหรือรักษาต่อไป เพราะอาจเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้
อ่านข่าวเพิ่มเติม: การบริโภควิตามินซีมากเกินไป อาจส่งผลให้การตรวจพบโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ล่าช้า