[เว็บไซต์ข่าวรอบโลกสำหรับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่] ตามรายงานจาก “กรมการแพทย์” นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เดือนพฤศจิกายนของทุกปี ถือเป็น"วันขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล” สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือน “รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” โดยมีการรณรงค์ตลอดทั้งเดือนเพื่อให้สังคมตระหนักและป้องกันปัญหาความรุนแรงที่จะเกิดต่อเด็ก และสตรีในครอบครัว รวมไปถึงความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ซึ่งในปัจจุบันยังมีเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่เป็นเหยื่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางกายและจิตได้อย่างมาก
นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในฐานะสถานพยาบาล มีหน้าที่ให้การรักษาพยาบาลและให้ความคุ้มครองเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง ได้จัดตั้งศูนย์พึ่งได้ (One Stop Crisis Center : OSCC ) ปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพทั้งภายในและภายนอกสถาบันฯ ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา พนักงานและเจ้าหน้าที่ตามกฏหมาย ซึ่งมีนักสังคมสงเคราะห์เป็นผู้จัดการและเป้าหมายสำคัญคือการดูแลครอบคลุมทุกมิติสุขภาพ รวมทั้งการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กด้วย จากสถิติผู้มารับบริการที่ศูนย์พึ่งของสถาบันฯได้ ในช่วงปี 2564 – 2566 มีเด็กถูกกระทำความรุนแรงทั้งสิ้น 134 ราย เป็นเด็กผู้ชาย 74 ราย และเด็กผู้หญิง 64 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีได้มีแนวทางการช่วยเหลือเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและครอบครัว ดังนี้ 1.ตรวจร่างกายและให้การรักษาหากเกิดความบาดเจ็บทางร่างกาย 2. เข้าสู่กระบวนการของศูนย์พึ่งได้โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล ร่วมกับสหวิชาชีพนอกโรงพยาบาลและครอบครัวโดยมีนักสังคมสงเคราะห์เป็น Case manager ประเมินความปลอดภัยของเด็กเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำความรุนแรงซ้ำ3. ในรายที่แพทย์ประเมินเบื้องต้นว่าเด็กและครอบครัวได้รับผลกระทบด้านจิตใจให้ส่งประเมินสภาพจิตใจและผลกระทบต่อเหตุการณ์โดยจิตแพทย์ หากพบความผิดปกติจะทำการบำบัดรักษาฟื้นฟูเด็ก 4.นักสังคมสงเคราะห์ ประเมินทางสังคม สภาพแวดล้อม ทำงานร่วมกับเด็ก ผู้ปกครอง ครู โรงเรียน ชุมชน โดยอาศัยความร่วมมือจากแพทย์ พยาบาล นักวิชาชีพทั้งภายในและภายนอกสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เช่น การแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กพ.ศ.2546 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการคุ้มครองเด็กเพื่อร่วมกันวางแผนให้การช่วยเหลือ ป้องกันปัญหาความรุนแรงดำเนินการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กต่อไป โดยในปีนี้จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรง “ตัวหนูปลอดภัย บ้านอบอุ่นใจ ไร้ความรุนแรง (Peaceful Homes, Happy Hearts) มีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะกระตุ้นเตือนให้เด็กๆ คุณพ่อ คุณแม่ และทุกคนในครอบครัวให้มีความรู้และเสริมทักษะที่จะปกป้องคุ้มครองเด็ก หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อกลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โทร. 1415 ต่อ 3327 หรือช่องทางการช่วยเหลือ สายด่วน OSCC : 1300
อ่านข่าวเพิ่มเติม : ในยุคที่โซเชียลมีเดียมีบทบาทต่อเยาวชน ความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ !