img
:::

รัฐฯ ออกมาตรการคงราคาอาหารสัตว์ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์

ภาพ/นำมาจาก Pixabay
ภาพ/นำมาจาก Pixabay

[เว็บไซต์ข่าวรอบโลกสำหรับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่] ตามรายงานของ “สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์”  ร้อยตรี จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงสถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ว่า ขณะนี้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูง แต่ก็มีสัญญาณบวก ที่ทำให้ราคาปรับลดลงได้ โดยกรมการค้าภายใน ได้หารือกับกรมปศุสัตว์ เพื่อหาทางช่วยเหลือเกษตรกรอีกทางหนึ่ง เช่น การเสริมสภาพคล่องของผู้เลี้ยง โดยการชดเชยดอกเบี้ย ซึ่งจะต้องเสนอเข้าคณะกรรมการที่รับผิดชอบสินค้าแต่ละชนิดพิจารณาเพื่อพิจารณาว่าแนวทางนี้เหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะการช่วยเหลือเกษตรกรรายเล็กและรายย่อยที่ขาดสภาพคล่อง ซึ่งเบื้องต้นจะสามารถช่วยเหลือชดเชยได้ร้อยละ 3 เป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับเกษตรกรที่กู้เงินนำมาเป็นต้นทุนเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ กรมการค้าภายใน ยังขอความร่วมมือผู้ผลิตอาหารสัตว์ต่างๆ ให้ตรึงราคาอาหารสัตว์ต่อไป เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์

อ่านข่าวอื่นเพิ่มเติม : การประกวดร้องเพลงอาเซียนเสียงดี เชิญผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ แรงงานต่างชาติร่วมโชว์พลังเสียง

รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ยังมีโครงการเชื่อมโยงอาหารสัตว์ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยง เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกซื้ออาหารสัตว์ได้ในราคาหน้าโรงงาน หรือซื้อผ่านสหกรณ์ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือระยะสั้น นำร่องในกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ผู้เลี้ยงไก่เนื้อ โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์การเลี้ยงกำหนดไว้ด้วย อาทิ สุกรไม่เกิน 5,000 ตัว ไก่ไข่หรือไก่เนื้อไม่เกิน 100,000 ตัว ทั้งนี้โครงการชดเชยค่าอาหารสัตว์นี้ จะใช้เงินจากกองทุนรวมช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรจะสามารถซื้อได้ในราคากิโลกรัมละ 1 บาท รายละไม่เกิน 10 ตัน หรือไม่เกิน 10,000 บาทต่อ 1 ราย ระยะเวลาการซื้ออาหารสัตว์ในโครงการนี้ 7 กรกฎาคม - 6 สิงหาคม 2566 และระยะเวลาการยื่นขอรับการสนับสนุน เริ่มตั้งแต่ 13 กรกฎาคม - 12 สิงหาคม 2566

อ่านข่าวอื่นเพิ่มเติม : เตือนชาวต่างชาติ ก่อนออกนอกประเทศต้องไปแจ้งยกเลิกใช้รถหรือโอนรถให้เรียบร้อย เพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับ

อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารสัตว์ปีนี้ยังถือว่าใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่มีสัญญาณบวกที่ผลผลิตอาหารสัตว์เริ่มดีขึ้น วัตถุดิบหลายอย่างปรับตัวลดลง อาทิ ถั่วเหลือง ซึ่งผลผลิตในตลาดโลก คาดการณ์ว่าปีนี้ จะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากประเทศผู้ผลิตหลักอย่างรัสเซียและอาร์เจนตินา มีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ขณะที่สหรัฐอเมริกา ก็มีการเพาะปลูกเร็วขึ้นและฝนตกมากขึ้น ทำให้ราคาปรับลดลงมาบ้าง นอกจากนี้ ยังมีวัตถุดิบโปรตีนอย่างปลาป่น ในตลาดโลกก็คาดการณ์ว่า จะเพิ่มปริมาณขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ราคาภาพรวมยังคงตัว ซึ่งประเทศไทย มีการใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนด้วย ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในตลาดโลกก็มีจำนวนมากพอสมควร โดยเฉพาะวัตถุดิบทดแทนข้าวโพด อย่างข้าวสาลี ผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาข้าวโพดและข้าวสาลี ในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงเชื่อมั่นว่าราคาอาหารสัตว์จะไม่ปรับตัวสูงขึ้นไปกว่านี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ข่าวเด่นประเด็นร้อน

:::
ข่าวล่าสุด 最新消息icon
回到頁首icon
Loading