พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัยของไทย เปิดเผยถึงกรณีข่าวผู้ป่วยหญิงติดเชื้อที่นิ้วหัวแม่มือลามเข้าข้อกระดูก เนื่องจากไปทำเล็บร้านเสริมความงามแห่งหนึ่ง และมีการขูดร่องเล็บและตัดแต่งต่อเล็บปลอมด้วย กาวตราช้าง ว่า การเข้าไปใช้บริการทำเล็บในร้านเสริมสวย ผู้ใช้บริการควรเลือกร้านที่เน้นที่ ความสะอาดปลอดภัยก่อนทำทุกครั้งที่ทำ และไม่ควรให้ช่างทำเล็บแซะที่ขอบเล็บ เพราะจะทำให้เกิดการแผลอักเสบเป็นหนองและลุกลามถึงข้อกระดูกได้ ซึ่งการทำความสะอาดเครื่องมือเครื่องใช้ของร้านเสริมสวยเป็นสิ่งสำคัญที่ร้านเสริมสวยต้องใส่ใจเพื่อป้องกันเชื้อโรค ไม่ให้แพร่กระจายไปสู่ผู้ใช้บริการ ดังนั้น ร้านเสริมสวย จะต้องทำความสะอาดเครื่องมือทำเล็บ ตะไบเล็บ ที่แคะเล็บ และที่ตัดเล็บ โดยฆ่าเชื้อโรคด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ หลังการใช้งานทุกครั้ง สำหรับช่างทำเล็บต้องดูแลสุขภาพอนามัยตนเองให้แข็งแรง และรักษาความสะอาดสม่ำเสมอ ใส่ผ้าปิดปากปิดจมูก รวมถึงมีการตรวจสุขภาพประจำปี และมีใบรับรองแพทย์ หากเป็นโรคติดต่อ ต้องรักษาตนเองจนหายเป็นปกติ
พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลที่เคยมีการสำรวจเมื่อปี 2557 ของสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร พบว่าสถานประกอบกิจการไม่ผ่านการประเมินและต้องปรับปรุงคือพื้น ผนังชำรุดและมีคราบสกปรก อ่างสระผมและเตียงมีคราบสกปรกหรือชำรุด อุปกรณ์และเครื่องมือ เช่น ผ้าคลุมสระผม หวี กรรไกร แปรงม้วนผม ที่แคะเล็บ ตะไบเล็บไม่สะอาด ไม่มีการทำความสะอาดหลังการใช้งานประจำวัน ไม่ใช้น้ำยา ฆ่าเชื้อโรค พบการปนเปื้อนเชื้อรา 81 ตัวอย่าง แม้จะเป็นเชื้อราที่ไม่ก่อให้เกิดโรค แต่หากผู้รับบริการมีสุขภาพที่อ่อนแอ อาจทำให้เกิดโรคได้ ไม่มีการจัดการขยะที่เป็นอันตราย เช่น ใบมีดโกน ภาชนะบรรจุน้ำยาดัดผม กระป๋องสเปรย์ และที่สำคัญผู้ให้บริการบางรายมีอาการเจ็บป่วยในขณะให้บริการ เช่น ไอ จาม โดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย อาจแพร่เชื้อโรคได้ โดยในการตรวจประเมินในครั้งนี้ เจ้าพนักงานกองสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมสำนักอนามัย กรุงเทพฯ ได้แนะนำให้ผู้ประกอบการเสริมความงามทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือให้บ่อยขึ้นหากไม่ปรับปรุงแก้ไขจะใช้มาตรการยึดใบอนุญาต
ทั้งนี้ กิจการเสริมสวยหรือแต่งผม ถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่5/2538 ซึ่งต้องขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนดำเนินกิจการ โดยเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจใช้มาตรการทางปกครองให้ผู้ประกอบกิจการแก้ไขหรือปรับปรุงการประกอบกิจการนั้นให้ถูกต้อง ถ้าหากไม่แก้ไขหรือปรับปรุง เป็นเหตุให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถ สั่งให้ผู้ประกอบการหยุดดำเนินกิจการนั้นไว้ทันที
ข้อมูลข่าวจาก สำนักข่าวไทย