เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก สมัยประชุมที่ 43ณ เมืองบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจัน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มิ.ย.-10 ก.ค.2562 โดยที่ประชุมได้รับทราบการรายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการติดตามตรวจสอบของศูนย์มรดกโลก โดยในปีนี้มีแหล่งมรดกโลก 112 แหล่ง ที่ยังคงต้องส่งรายงานสถานภาพการอนุรักษ์ตามที่ศูนย์มรดกโลกร้องขอ ซึ่งรวมถึงมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาด้วย โดยกรมศิลปากร ได้ส่งรายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตามร่างข้อตัดสินใจขององค์กรที่ปรึกษา หรือ ICOMOS ซึ่งที่ประชุมรับทราบและชื่นชมความพยายามในการอนุรักษ์และการจัดการ โดยเฉพาะการปรับปรุงแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (พ.ศ.2561-2570) รวมถึงยุทธศาสตร์การป้องกันความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และพอใจกับการจัดให้มีกิจกรรมการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของงานช่างฝีมือในท้องถิ่น ตลอดจนการส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมเฉพาะทาง
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบการปรับระเบียบกฎเกณฑ์การขออนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่อปกป้องคุณค่าความเป็นสากลอันโดดเด่นของพื้นที่โบราณสถาน และขอให้ไทยติดตามแผนการดำเนินการตามคำสั่งรื้อถอนอาคาร มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีผลกระทบทางลบต่อคุณค่าความเป็นสากลอันโดดเด่นของพื้นที่โบราณสถาน และส่งเสริมให้ไทยเฝ้าระวังพื้นที่โบราณสถานที่มีชื่ออยู่ในบัญชีอย่างสม่ำเสมอและเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการแทรกแซงใดๆต่อพื้นที่โบราณสถาน จะต้องอยู่บนหลักการของการอนุรักษ์ทางวิทยาศาสตร์ และคงไว้ซึ่งโครงสร้างทางกายภาพและเทคนิคแบบดั้งเดิม รวมทั้งร้องขอให้ไทยต้องแจ้งต่อศูนย์มรดกโลก (World Heritage Centre) ถึงแผนการในอนาคตสำหรับการอนุรักษ์โบราณสถานหรือการก่อสร้างในพื้นที่ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณค่าความเป็นสากลอันโดดเด่นของพื้นที่โบราณสถาน และ ร้องขอให้ขยายขอบเขตของพื้นที่โบราณสถานที่เป็นมรดกโลก เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงร่องรอยอันสมบูรณ์ และ รุ่งเรืองของอยุธยา โดยให้ส่งพร้อมรายงานสถานภาพการอนุรักษ์ รวมทั้งแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และระเบียบเกณฑ์การขออนุญาตปลูกสร้าง (ปรับปรุง)ให้จัดส่งรายงานต่อศูนย์มรดกโลกภายในวันที่ 1ธ.ค.2563
นายอนันต์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติรับรองแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย จำนวน 2 แหล่ง ได้แก่ เมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ และ กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำและปราสาทปลายบัด จ.บุรีรัมย์ ขึ้นทะเบียนในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) โดยประเทศไทยจะต้องเตรียมจัดทำเอกสารเพื่อนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าวเข้าสู่บัญชีมรดกโลกต่อไป
ข้อมูลข่าวจาก เดลินิวส์