องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน TBCSD ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดเสวนา ก้าวสำคัญภาคธุรกิจ (TBCSD) เดินหน้าแก้ไขปัญหา PM2.5 เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุและแนวทางการรับมือฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และมาตรการที่ TBCSD จะดำเนินการโดยสมัครใจและการสร้างความรับรู้ของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติคุณภาพอากาศในช่วงเดือนธ.ค.-มี.ค.
ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศฯ กล่าวว่า ตามสถิติแล้วแนวโน้มของคุณภาพอากาศของไทยดีขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามด้วยสภาพอากาศ และการพัฒนาของการคมนาคมขนส่ง การขยายของเมือง โดยสาเหตุหลักของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล และการเผาชีวมวลในที่โล่ง หากสภาพอากาศปิดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 จะทวีความรุนแรงขึ้น จึงต้องมีการปรับปรุงแก้ไขจากต้นกำเนิดของฝุ่นละออง เช่น ส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลที่มีสารกำมะถันไม่เกิด 10 ppm แทนชนิด 50 ppm ในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยลดการระบาย PM2.5 ได้ร้อยละ 15-20 และการใช้รถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติแทนรถที่ใช้น้ำมันดีเซล
สำหรับรถยนต์ประเภทต่างๆจะต้องมีการปรับมาตรฐานยานยนต์เป็นยูโร 6 ที่จะต้องมีการบังคับใช้อย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง รวมทั้งการกำหนดพื้นที่ และช่วงเวลาการเข้าเมืองของรถบรรทุกขนาดใหญ่ด้วย ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาในระยะสั้นได้ อีกทั้งรถที่มีปัญหาควันดำจะต้องถูกควบคุมอย่างจริงจัง องค์กรภาคธรกิจจะต้องงดใช้งาน หรือหารถประเภออื่นที่ส่งผลกระทบน้อยกว่าทดแทน
ดร.วิจารณ์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และเลขาธิการของ TBCSD กล่าวว่า มาตรการที่ TBCSD จะร่วมกันดำเนินการด้วยความสมัครใจ โดยจะขับเคลื่อนการตรวจสภาพและบำรุงรักษารถและเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมอ สร้างพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัย ส่วนมาตรการในช่วงวิกฤติ PM2.5 TBCSD จะพิจารณาใช้น้ำมันที่เป็น Bio-based หรือ NGV หรือน้ำมันที่มีค่ากำมะถันต่ำไม่เกิน 10 ppm ตามประเภทของเครื่องยนต์ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการนำรถดีเซลเข้าพื้นที่ชั้นในของ กทม. ลดการใช้รถใช้ถนนของพนักงานจากทั้ง 40 องค์กรธุรกิจ โดยส่งให้มีการจัดรถให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวก หรือสนับสนุนบริการสาธารณะในช่วงฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน
นอกจากนี้ การสร้างความรับรู้แก่ประชาชน โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จะเป็นผู้แนะนำ แนะแนวทางในการปรับตัว ความร่วมมือลดการก่อมลพิษอย่างถูกต้อง การแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว ทำให้ประชาชนได้รับการดูแลคุ้มครองจากปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อมูลข่าวจาก สำนักข่าวไทย