ตามรายงานข่าวของ “HakkaPeople” วันตรุษจีนนับเป็นเทศกาลที่สำคัญ และอึกทึกครึกโครมที่สุดในรอบหนึ่งปีของชาวจีน เฉกเช่นเทศกาลวันคริสต์มาสซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญที่สุด สำหรับชาวประเทศตะวันตกหรือว่าเทศกาลสงกรานต์ของชาวไทย ถึงแม้นว่า พร้อม ๆ ไปกับการพัฒนาแห่งยุคสมัย เนื้อหาและรูปแบบของการเฉลิมฉลองตรุษจีน ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้วก็ตาม แต่เทศกาลตรุษจีน ก็ยังคงมีความสำคัญที่มิอาจมีอะไรมาทดแทนได้ในชีวิต และจิตสำนึกของชาวจีนทั้งหลาย
เล่ากันว่า เทศกาลตรุษจีนมีประวัติมายาวนานร่วม ๔ พันปีแล้ว ตามวิถีชีวิตของชาวจีนทั่วไป เทศกาลตรุษจีนตามความหมายกว้าง ๆ นั้นเริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๓ หรือวันแรม ๘ ค่ำเดือน ๑๒ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติ รวมเวลานานประมาณสามสัปดาห์ และในระหว่างนี้ คืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กับ “วันชิวอิด” นั้นนับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญและเอิกเกริกที่สุด
อ่านข่าวเพิ่มเติม: ต้องระวัง! แรงงานต่างชาติจะ “ถูกเพิกถอน” ใบอนุญาตการจ้างงานหากฝ่าฝืนกฎระเบียบการป้องกัน “โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร”
ตามท้องที่ต่าง ๆ ของจีนมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกัน ในการฉลองตรุษจีน แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน และขาดเสียมิได้ไม่ว่าจะเป็นชาวจีนภาคใต้หรือชาวจีนภาคเหนือ นั่นก็คือ สมาชิกครอบครัวจะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน เพื่อร่วมรับประทานอาหารมื้อส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ในคืนสุดท้ายของปีเก่า ส่วนทางภาคใต้ของจีน อาหารมื้อนี้ของแต่ละครอบครัวมักจะมีกับข้าวต่าง ๆ มากถึง ๑๐ กว่าอย่าง และในจำนวนนี้ กับข้าวที่จำเป็นต้องมีเสมอในมื้อสำคัญนี้ก็คือ เต้าหู้ และปลา เพราะในภาษาจีนนั้น ทั้งสองคำดังกล่าวนี้ ต่างมีเสียงพ้องกับคำที่มีความหมายว่า “ร่ำรวย” นั่นเอง ส่วนชาวจีนในภาคเหนือนั้น มักจะเลือก “เจี่ยวจึ” หรือ “เกี๊ยว” เป็นอาหารส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ท่านผู้ฟังอาจจะถามว่า “เจี่ยวจึ” ที่เป็นอาหารจานโปรดของชาวจีนภาคเหนือนั้นทำอย่างไร? คำตอบง่าย ๆ ก็คือ เอาแผ่นแป้งข้าวสาลีบาง ๆ รูปทรงกลมมาห่อไส้เนื้อสัตว์ หรือผักที่ปรุงรสต่าง ๆ ตามชอบ แล้วนำไปต้มในน้ำเดือดจนสุก จากนั้นก็ตักขึ้นมารับประทานร่วมกับน้ำจิ้ม ซึ่งทำจากน้ำส้มสายชูได้เลย
อาหารที่มีมาแต่ดั้งเดิมในช่วงตรุษจีนนั้นยังมีอีกหลายอย่าง เช่น “เหนียนเกา” หรือ “ขนมเข่ง” ที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว ขนม “ทังหยวน” และ “หยวนเซียว” ซึ่งต่างก็มีลักษณะคล้ายกับ “ขนมอี้” ของไทย? อาหารเหล่านี้ต่างมีความหมายแฝงว่า การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นทุก ๆ ปี และความเป็นอยู่พร้อมหน้ากันของสมาชิกทั้งครอบครัวและความผาสุข เป็นต้น
การอยู่รวมญาติร่วมกันโต้รุ่งตลอดคืนส่งท้ายปีเก่านั้น ก็เป็นกิจกรรมที่มีมาแต่ดั้งเดิมของเทศกาลตรุษจีนเช่นกัน ในอดีต ก่อนวันตรุษจีนมาถึง ผู้คนทั้งหลายมักจะจุดประทัดกันเพื่อฉลองตรุษจีน แต่ทุกวันนี้ได้ใช้นโยบายห้ามจุดประทัดกันเสียแล้ว เมื่อถึงวันชิวอิด สมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กเล็ก ต่างก็จะสวมใส่เสื้อใหม่กันเพื่อต้อนรับการมาเยือนของญาติมิตร หรือออกไปเยี่ยมเยียนและกล่าวสวัสดีปีใหม่กับญาติมิตร ถ้าในรอบปีที่ผ่านมา เคยเกิดความขัดแย้งบางประการระหว่างกัน แต่ขอให้ได้กล่าวอวยพรปีใหม่ต่อกันในช่วงตรุษจีน ก็จะถือกันว่า ทุกฝ่ายต่างได้ให้อภัยซึ่งกันและกัน แล้วพร้อม ๆ กับปีใหม่ที่มาเยือน
“เจี่ยวจึ” หรือ “เกี๊ยว” ภาพจาก/คลังภาพ Pixabay)
อ่านข่าวเพิ่มเติม: โรคภัยไข้เจ็บไม่แบ่งคนรวยหรือจน แรงงานไทยที่มีสิทธิประกันสังคมรับการรักษาฟรี
กิจกรรมในช่วงตรุษจีนยังมีอีกหลากหลาย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ เมื่อผ่านพ้นวันขึ้นปีใหม่ตามคริสต์ศักราชไปแล้ว ภาพยนตร์ต้อนรับปีใหม่ ก็จะเริ่มถูกนำออกฉายประชันกันในทั่วประเทศจีน ส่วนในเขตชนบทนั้น ก็จะเปี่ยมไปด้วยบรรยากาศแห่งความร่าเริงหรรษาโดยทั่วหน้ากัน ด้วยงานแสดงและกิจกรรมต่าง ๆ นานา เช่น การแสดงงิ้วพื้นเมือง การเชิดสิงโต การเต้นรำ “ยางเกอ” การเล่นเดินไม้ต่อขาและเที่ยวงานวัด เป็นต้น การชมรายการบันเทิงต่าง ๆ ทางโทรทัศน์ ก็นับเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมจากชาวจีนจำนวนมากเช่นกัน
นอกจากนี้แล้ว การปิดคำขวัญคู่และภาพปิดในช่วงตรุษจีนตามบานประตูและจุดโคมไฟ เป็นต้นก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อความบันเทิง ในการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน ในขณะเดียวกัน ที่ชาวจีนยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาแต่ดั้งเดิมของเทศกาลตรุษจีนนั้น ผู้คนทั้งหลาย ยังได้คิดสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยในช่วงตรุษจีน เช่น เล่นสกี ร่วมเล่นเกมส์อินเตอร์เน็ตกับเพื่อนฝูงเป็นต้น นอกจากนี้ การเดินทางไปท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็ได้กลายเป็นกระแสนิยมใหม่อย่างหนึ่งของชาวจีนไปแล้วเช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก: HakkaPeople