โลกการทำงานยุคนี้เปลี่ยนไปจากอดีตในหลายมิติ ไม่เพียงเกิดการทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้นเท่านั้น (ทำงานทางไกล, ทำงานไฮบริด) แต่ในมิติการ “หางาน” ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน เมื่อช่องทางการหางานสมัยนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เว็บไซต์สมัครงาน การส่งเรซูเม่ทางอีเมล หรือการใช้แพลตฟอร์มที่เป็นทางการอย่าง LinkedIn อีกต่อไป แต่คนรุ่นใหม่หางานผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Tiktok และ แอปฯ หาคู่ พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
ขณะเดียวกัน แอปฯ หาคู่อย่าง Tinder, Bumble, Grindr ก็ได้รับความนิยมในฐานะช่องทางการหางาน ไม่ใช่แค่ผู้สมัครงานที่ต้องการหางานเท่านั้น แต่องค์กรเองก็ใช้ช่องทางนี้หาพนักงานเข้ามาทำงานเช่นกัน/Flickr
ตามรายงานผลสำรวจของ Pew Research Center เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ค้นพบว่าผู้คนวัยทำงานมีการใช้ TikTok กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานชาวอเมริกันอายุน้อย (18 - 34 ปี) หรือกลุ่มชาว Gen Z และรุ่นมิลเลนเนียล โดย 56% ของวัยทำงานกลุ่มตัวอย่างในช่วงอายุ 18 - 34 ปี กล่าวว่า พวกเขาใช้งานแพลตฟอร์มนี้ในหลากหลายเหตุผล ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “ใช้ TikTok ในการหางาน” อีกทั้ง 41% ของกลุ่ม Gen Z เข้าไปดูคำแนะนำเกี่ยวกับอาชีพต่างๆ และตัดสินใจทำตามคำแนะนำที่พบในแพลตฟอร์มนี้
นอกจากนี้ 15% ของกลุ่มวัยทำงานคนรุ่นใหม่ ได้รับข้อเสนอเรื่องงานในแอปฯ นี้ และเกือบ 80% ของกลุ่มวัยทำงานคนรุ่นใหม่ ใช้แอปฯ นี้เพื่อติดตามการสำรวจ ResumeBuilder.com เพื่อหาข้อมูลเรื่องการสมัครงาน
ด้าน “แอปฯ หาคู่” หลายแอปฯ อย่าง Tinder, Bumble, Grindr ต่างก็ได้รับความนิยมในการใช้งานเพื่อการ “หางาน” เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ข้อมูลจาก Creative Talk โดย พีรพล สดทรัพย์ ระบุไว้ว่า ตามธรรมชาติของมนุษย์แล้ว เมื่อมีโซเชียลมีเดียใดๆ เกิดขึ้นมา มันจะถูกนำไปใช้ประโยชน์นอกเหนือจากความตั้งใจเดิมเสมอ เนื่องจากเป็น Free Space ที่รวบรวมข้อมูล ความสนใจที่หลากหลายไว้ในที่เดียว เกิดการสร้างคอนเน็กชันระหว่างบุคคลได้มากขึ้น
มีวิธีการหางานผ่านแอปฯ เหล่านี้มีหลากหลายแบบ หนึ่งในเคสที่เคยหางานใน TikTok แล้วได้งาน แชร์ว่า การทำคลิปแนะนำตัวเองสั้นๆ พร้อมเผยจุดแข็งและทักษะในการทำงาน ทำให้ดึงดูดใจนายจ้างได้ดี/Flickr
อีกทั้งคนหางานหลายคนอาจใช้แพลตฟอร์มหางานเดิมๆ มาเยอะแล้วไม่ได้ผล จนรู้สึกเหมือนทางตัน จึงหันมาพยายามครีเอทีฟวิธีพรีเซนต์ตัวเองในแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่างแอปฯ หาคู่ดูบ้าง อีกทั้งข้อดีของแอปฯ หาคู่คือ เป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้งานไม่รู้สึกเกร็ง ไม่ต้องคุยอย่างเป็นทางการมากนัก นั่นทำให้คนมากมายสนใจเข้ามาหางานด้วยแอปฯ หาคู่
สำหรับคนทั่วไปแล้วแอปฯ TikTok อาจหมายถึงแอปฯ ที่ขึ้นชื่อเรื่องแฟชั่น การเต้น และการเล่นตลกขบขันต่างๆ แต่หากเป็นผู้ใช้งานจริงๆ ที่ใช้งานมานานสักพัก ย่อมรู้ดีว่าแอปฯ นี้ได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับคนรุ่นใหม่ในการหางาน หาคำแนะนำเรื่องงาน และหาโอกาสด้านการฝึกอาชีพอีกด้วย
โดยคำแนะนำด้านอาชีพส่วนใหญ่บน TikTok มักจะพูดถึงเคล็ดลับการทำงานที่สรุปมาจากพอดแคสต์, วิดีโอ YouTube, ข้อมูลเรื่องงานจาก LinkedIn ฯลฯ ซึ่งเน้นเป็นคอนเทนต์ที่สั้น กระชับ เข้าใจง่าย แค่ดูและฟังก็ทำให้เข้าใจเพียงพอ ไม่ต้องเสียเวลาอ่านบทความยืดยาว คำแนะนำต่างๆ บนแพลตฟอร์มนี้จึงน่าดึงดูดใจยิ่งขึ้นสำหรับคน Gen Z ในการใช้ TikTok เพื่อค้นหาอาชีพ
สำหรับมือใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นหางานใน TikTok ยังไงดี ก็มีคำแนะนำว่าให้ลองคลิกที่แฮชแท็ก #jobsearch, #careertok หรือแม้แต่ #corporatebaddies ฯลฯ จากนั้นก็จะพบกับเคล็ดลับ ข้อคิด คำแนะนำต่างๆ ในการทำงาน และรวมไปถึง “คำบ่น” เกี่ยวกับงานมากมายนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ข้อถกเถียงเรื่อง “การแสดงค่าจ้าง” ไปจนถึง “Quiet Quitting” ในตำแหน่งงานที่คุณเกลียด เป็นต้น
ผู้เชี่ยวชาญแนะ หางานในแอปฯ หาคู่ไม่แปลก ฝั่งองค์กร-บริษัท ก็โพสต์หาพนักงานในแอปฯ เหล่านี้เช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มแอปพลิเคชันที่ได้รับความสนใจในฐานะที่เป็นช่องทางหางาน (ไม่ใช่เฉพาะการหาคู่เพียงอย่างเดียว) นั่นคือ กลุ่มแอปฯ หาคู่ ไม่ว่าจะเป็น Tinder, Bumble, Grindr ซึ่งแพร่หลายไปทั่วโลก แม้จุดประสงค์หลักของแอปฯ เหล่านี้ คือ เอาไว้ใช้สำหรับทำความรู้จักและสร้างสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในเชิงโรแมนติก แต่ช่วงหลายปีมานี้กลายเป็นว่า ผู้คนหันมาใช้แอปฯ หาคู่ในการสร้างคอนเน็กชันเพื่อหางาน ซึ่งจะระบุเอาไว้ในช่องไบโอเลยว่า “สำหรับหางานเท่านั้น” และดูเหมือนว่าจะได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ
แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญอย่าง เอเลียนนา โกลด์สไตน์ (Eliana Goldstein) โค้ชด้านอาชีพ ยังแนะนำให้ใช้แอปฯ หาคู่ในการหางาน โดยเธอกล่าวผ่าน Wall Street Journal ไว้ว่า “ฉันเคยได้ยินมาสักพักแล้วว่าคนรุ่นใหม่ใช้แอปฯ หาคู่หางาน และความเห็นของฉันคือถ้ามันช่วยสร้างเครือข่ายได้ ก็ควรใช้มันซะ”
อีกทั้ง แอปฯ หาคู่ ยังถูกขนานนามว่า “แอปฯ หางานยุคใหม่” โดยเริ่มมาเป็นที่นิยมในช่วงปีนี้ที่เกิดการเลิกจ้างขนาดใหญ่ จนคนรุ่นใหม่หันมาใช้เป็นตัวช่วยพบปะผู้คน สร้างเครือข่าย และพัฒนาอาชีพของพวกเขา ยกตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้มีชายหนุ่มคนหนึ่งทวีตว่าเขาถูกฝ่าย HR ชักชวนไปร่วมงานผ่านแอปฯ หาคู่ “Bumble”
ขณะเดียวกัน บริษัทเองก็หาพนักงานจากแอปฯ หาคู่ ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่าง แบรนดอน ทามาโย (Brandon Tamayo) ผู้เชี่ยวชาญด้านงานกำกับดูแลของ Chicago Transit Authority บริษัทด้านการขนส่งมวลชน แนะนำให้คนคุยในแอปฯ Grindr มาสมัครงานกับบริษัทของเขา หากคนเหล่านั้นกำลังหางานอยู่ ด้าน จอร์จ เอริสัน (George Arison) ซีอีโอของ Grindr ก็เปิดเผยกับสำนักข่าว Insider ว่า ผู้ใช้งานราว 25% นิยมใช้แอปพลิเคชันนี้เพื่อสร้างเครือข่ายเรื่องงาน ซึ่งตัวเขาเองก็หาพนักงานได้จากแอปฯ นี้เช่นกัน
เริ่มจาก “แซม เวดท์ (Sam Weidt)” ผู้เชี่ยวชาญด้านโซลูชันโฆษณาที่ Business Insider ได้แชร์ประสบการณ์ว่า เขาได้ฝึกงานด้านการตลาดครั้งแรกก็เพราะเล่น Tinder เนื่องจากเขาปัดขวาที่โปรไฟล์ของบริษัท ซึ่งการพูดคุยครั้งนั้นนับเป็นก้าวสำคัญให้เวดท์ได้ฝึกงาน จนได้เครดิตในช่วงเริ่มต้นของการเป็น First Jobber
ด้าน “ฟิล ฟาน นอสแตรนด์ (Phil Van Nostrand)” ช่างภาพมืออาชีพ เขาเองก็ได้งานจากการเล่นแอปฯ หาคู่อยู่เสมอ โดยเขามักใช้ Tinder หรือ Bumble เป็นครั้งคราวเพื่อเดตกับสาวคนใหม่ ทว่าแอปฯ เหล่านี้ไม่เพียงแต่พาเขาให้ได้ทำความรู้จักคนตรงหน้าเท่านั้น แต่มันยังทำให้เขาได้งานถ่ายภาพจากการแนะนำของคู่เดตด้วย โดยนอสแตรนด์ได้งานจากแอปฯ หาคู่มาประมาณ 10 ครั้งแล้ว ซึ่งมีบางงานที่เขาได้เงินสูงถึง 10,000 ดอลลาร์
ถัดมาในเคสของ “บารอน เหลียง (Baron Leung)” เขาบอกว่าไม่คาดคิดว่าวิดีโอความยาว 2 นาทีจะเปลี่ยนเส้นทางอาชีพของเขา แถมยังได้งานที่ชอบอีกด้วย เขาเล่าย้อนอดีตให้ฟังว่าในเดือนเมษายน ปี 2023 เขาลองทำคลิปสั้นพรีเซ็นต์ตัวเองบน TikTok เล่นๆ ไม่ได้จริงจัง ในหัวข้อ “ทำไมคุณควรจ้างบารอน” ในวิดีโอชิ้นนั้นเขาพูดนำเสนอตัวเองว่าเป็น “คนบ้างาน” แสดงจุดแข็งในการทำงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขา รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ และความเป็นผู้นำ
ก่อนหน้านี้ เหลียงลาออกจากงานสุดท้ายที่เอเจนซี่โฆษณาเมื่อเดือนมีนาคม 2566 โดยไม่มีข้อเสนอใหม่เข้ามา และหลังจากผ่านไปสองเดือนกับการถูกบริษัทหลายแห่งปฏิเสธไม่เรียกสัมภาษณ์งาน เขาเริ่มไม่มีความหวังในการหางานใหม่ผ่านช่องทางเดิมๆ แต่ท้ายที่สุดเขาก็ลองมาหางานผ่าน TikTok โดยไม่ได้คาดหวังอะไร แต่ในที่สุด หลังจากสัปดาห์ต่อมา เขาก็ได้ลงนามบรรจุเป็นพนักงานในตำแหน่ง “นักวางแผนโฆษณา” ที่บริษัท Zenith เอเจนซีด้านโฆษณา ซึ่งตั้งอยู่ในโตรอนโต
HR ที่สำนักงานของเอเจนซีดังกล่าว บอกว่าเธอจ้างเขาโดยพิจารณาจากการปรากฏตัวบน TikTok ของเขา ด้านผู้สมัครงานอย่างเหลียงบอกอีกว่า เขาชอบเล่น TikTok และคิดว่าเขาสามารถแสดงบุคลิกของตัวเองออกมาในวิดีโอ ได้ดีกว่าการเขียนเรซูเม่ในการสมัครงาน และมันก็ได้ผล
ขณะที่เคสของ “เจด วอลเตอร์ (Jade Walters)” วัย 24 ปี เล่าว่า อาชีพของเธอจะแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง หากไม่มี TikTok โดยเธอได้เข้าร่วมในโครงการนำร่อง “TikTok Resumes” ของแอปฯ ในเดือนกรกฎาคม 2021 ไม่นานหลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโฮเวิร์ด บริษัทต่างๆ เช่น Chipotle และ Target ได้โฆษณาตำแหน่งงานว่างบนแอปฯ นี้ และเชิญชวนผู้หางานให้สร้างประวัติย่อผ่านวิดีโอส่งเข้ามา
วอลเตอร์สจึงตัดสินใจลองดู คลิปความยาวหนึ่งนาทีของเธอ มีรูปถ่ายประสบการณ์ในวิทยาลัยของเธอ ประกอบกับเสียงบรรยายเกี่ยวกับกิจกรรมนอกหลักสูตรในมหาวิทยาลัย และการฝึกงานในอดีตของเธอ มียอดดูมากกว่า 15,000 ครั้งในไม่กี่สัปดาห์ หลังจากนั้น ในเดือนกันยายน 2021 วอลเตอร์ส ก็ได้งาน และได้ย้ายไปที่เมืองชิคาโกเพื่อทำงานให้กับบริษัทเอเจนซีแห่งหนึ่ง ในตำแหน่งนักวางแผนโฆษณา ท้ายที่สุดเธอบอกว่า “มันเป็นงานในฝันของฉันจริงๆ ฉันมีความสุขมากในอาชีพนี้ และ TikTok ก็มีบทบาทอย่างมากในเรื่องนี้”