นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า คำสั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 2 ฉบับ มีผลบังคับใช้แล้ว สาระสำคัญ คือ กำหนดมาตรการคุ้มครองแหล่งปะการังใต้ทะเลจากการดำน้ำ เพื่อตรวจสภาพแหล่งปะการังแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละแห่ง แต่สิ่งที่พบมาก คือ ขยะพลาสติก เศษเชือกและเศษอวน ติดอยู่ตามแหล่งปะการัง ซึ่งเกี่ยวและลากทำให้ปะการังหักและตาย พื้นที่เร่งด่วนที่ต้องรีบดูแล เช่น เกาะพยาม หรือที่ได้รับฉายา “มัลดีฟส์เมืองไทย” จ.ระนอง เกาะโลซิน จ.ปัตตานี เกาะดอกไม้ จ.พังงา กองหินแดง จ.กระบี่ เป็นต้น
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ได้ประกาศคำสั่ง 2 ฉบับ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แก่ กำหนดมาตรการสำหรับการทำกิจกรรมในพื้นที่เกาะพยาม อ.เมือง จ.ระนอง ห้ามจอดเรือโดยการทิ้งสมอหรือทอดสมอบริเวณแนวปะการัง ห้ามให้อาหารสัตว์เพื่อล่อ จับ หรือเก็บสัตว์น้ำ รวมทั้งห้ามเท ทิ้ง ระบายของเสีย ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูลหรือสิ่งอื่นใดก่อให้เกิดมลพิษ ห้ามทำตะกอนใต้น้ำฟุ้งกระจายจนส่งผลกระทบต่อปะการังและหญ้าทะเล
สำหรับพื้นที่กองหินใต้น้ำเป็นแหล่งดำน้ำดูปะการังสำคัญของประเทศ ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เนื่องจากการทำประมง กำหนดห้ามทำการประมง ลอบ และอวนทุกชนิด บริเวณแนวปะการังในพื้นที่กองหินชุมพร กองหินวง เกาะกงทรายแดง กองหินตุ้งกู กองหินใบ กองหินเกาะว่าว เกาะตุ้งกู เกาะตุ้งกา อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เกาะโลซิน จ.ปัตตานี กองหินหมูสัง เกาะดอกไม้ อ.เกาะยาว กองหินอีแต๋น อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา และกองหินแดง จ.กระบี่ ยกเว้นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการวิจัย ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีก่อน ผู้กระทำผิดตามคำสั่งทั้ง 2 ฉบับ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายโสภณ กล่าวว่า หากพบการกระทำผิดในพื้นที่ดังกล่าว สามารถแจ้งสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่รับผิดชอบในพื้นที่ หรือช่องทางอื่น ๆ ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง”
ข้อมูลข่าวจาก สำนักข่าวไทย