สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงมหาดไทยของไต้หวันได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติเรื่องการต่อต้านการค้ามนุษย์ปี 2019 (The International Workshop on Combating Human Trafficking) ระหว่างวันที่ 25-26 ก.ค. 2019 โดยเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (25) การประชุมได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการแล้ว โดยมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่กว่า 200 คน จาก 40 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมการประชุม เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดประสบการณ์ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ นายเฉิน เจี้ยนเหริ๋น (陳建仁) รองประธานาธิบดีไต้หวันได้เดินทางมาร่วมเปิดการประชุมและกล่าวว่า ไต้หวันได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในเทียร์ 1 ในด้านการป้องกันการค้ามนุษย์ ต่อเนื่องถึง 10 ปีซ้อน ซึ่งเป็นผลของความพยายามร่วมกันระหว่างรัฐบาลและประชาชน ไต้หวันยินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์ของตนกับนานาชาติเพื่อทำงานร่วมกันเพื่อต่อสู้กับการค้ามนุษย์
นายซู่ กั๋วหย่ง (徐國勇) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไต้หวันกล่าวว่า ไต้หวันเป็นประเทศเปิดกว้าง และมีคนจากประเทศใกล้เคียงย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยอยู่ในไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงาน การเข้ามาทำงาน หรือศึกษาเล่าเรียน หลายปีมานี้ ไต้หวันได้เดินหน้าส่งเสริมมาตรการต่อต้านการเลือกปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการเปลี่ยนคำระบุตัวตนของแรงงานจากต่างประเทศที่ทำงานในไต้หวันบนใบถิ่นที่อยู่ (ARC) ให้เป็นคำว่า“แรงงานข้ามชาติ”จากเดิมที่ใช้คำว่า“แรงงานต่างชาติ”เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้ภาษาที่เป็นมิตรสำหรับแรงงานข้ามชาติ และทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศต้นกำเนิดของแรงงานข้ามชาติ ให้แรงงานข้ามชาติได้ทำงานในไต้หวันอย่างปลอดภัย รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้ประเทศต้นกำเนิดของแรงงานข้ามชาติด้วย
กระทรวงมหาดไทยไต้หวันระบุว่า เพื่อเป็นการตอบรับข้อเสนอแนะจากรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกาในปี 2019 ประกอบกับวันต่อต้านการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ตรงกับวันที่ 30 ก.ค.ของทุกปี สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไต้หวันจึงได้จัดการประชุมดังกล่าวขึ้นเป็นเวลา 2 วัน โดยในปีนี้มีหัวข้อการประชุมหลักๆ 4 หัวข้อ คือ "แนวโน้มระหว่างประเทศในการป้องกันการค้ามนุษย์", "การอภิปรายเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรและการแสวงหาผลประโยชน์จากการประมง", "การป้องกันการค้ามนุษย์ในระดับภูมิภาคร่วม" และ "กลยุทธ์การป้องกันการค้ามนุษย์และคดีการค้ามนุษย์"
นอกจากนี้ การประชุมในครั้งนี้ได้เน้น 4 กลยุทธสำคัญของการป้องกันการค้ามนุษย์ (4P) ได้แก่ การดำเนินคดี (Prosecution) การปกป้อง (Protection) การป้องกัน (Prevention) และพันธมิตร (Partnership)
สำหรับแขกวีไอพีที่เข้าร่วมการประชุมในวันนี้ได้แก่ นายเฉิน เจี้ยนเหริ๋น (陳建仁) รองประธานาธิบดีไต้หวัน, นายหลั๋ว ปิงเฉิน (羅秉成) สมาชิกสภาบริหารไต้หวัน, นายซู่ กั๋วหย่ง (徐國勇) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไต้หวัน, นาย Raymond Greene รองผู้อำนวยการสถาบันอเมริกันในไต้หวัน, นาย Aloysius John เลขาธิการสมาคมระหว่างประเทศคาริตัส และนาย Archbishop Silvano M. Tomasi อดีตเอกอัครราชทูตสหประชาชาติประจำกรุงเจนีวา นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่กว่า 250 คน จาก 40 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการประชุม โดยหนึ่งในนั้นคือสมาชิกของสมาคมระหว่างประเทศคาริตัสซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไรจาก 20 ประเทศ เข้าร่วมการประชุม ทำให้ไต้หวันมีความสำคัญในการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ในระดับนานาชาติ
กระทรวงมหาดไทยไต้หวันเน้นย้ำว่า กลยุทธด้านพันธมิตร(partnerships) นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก การประชุมในครั้งนี้ได้เชิญผู้ที่ได้รับรางวัลฮีโร่ด้านการป้องกันการค้ามนุษย์ประจำปี 2018 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แก่ ทนาย Kinm Jong Chul จากประเทศเกาหลีใต้ และ Hanh Dang ซีอีโอของสมาคมเพื่อการป้องกันการค้ามนุษย์อาเซียนสำนักงานเวียดนาม (AACT) มาร่วมการประชุม โดยหวังว่าจะสามารถปรับปรุงกลยุทธ์และแนวคิดการป้องกันในระดับภูมิภาค เสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อการปกป้องสิทธิมนุษยชน