Dr.Vu Thanh Nam หน่วยงานการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม กล่าวว่า สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นประเทศที่ผ่านสงครามหลายครั้ง และต้องเผชิญกับปัญหาหลายอย่างที่นับเป็นเวลายากลำบากของประเทศ แต่หลังจากเวียดนามได้รวมชาติสำเร็จแล้ว ได้เข้าสู่ยุคการพัฒนาประเทศ หลังปี 2518 เวียดนามได้กำหนดเป้าหมายเพื่อมุ่งให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข ประเทศเจริญรุ่งเรือง โดยเน้นที่การพัฒนาความเป็นอยู่พื้นฐานรวมถึงในด้านระบบสุขภาพ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุข โดยในช่วงระหว่างปี 2523 ถึง 2533 เวียดนามได้เริ่มดำเนินการให้มีระบบหลักประกันสุขภาพภายใต้ระบบประกันสังคม
จากที่ประเทศไทยได้ดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนเป็นผลสำเร็จ แม้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางก็ตาม และยังได้รับการยกย่องจากนานาประเทศให้เป็นต้นแบบของการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่สร้างความครอบคลุมและทั่วถึง นับว่ามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างยิ่ง ทั้งยังเป็นระบบที่รักษาความสมดุลและสร้างความเป็นธรรมระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ดังนั้นเวียดนามจึงใช้ประเทศไทยเป็นตัวอย่างการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ
ปัจจุบัน ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของเวียดนามสามารถครอบคลุมประชากรราวร้อยละ 80 ของประชากรประเทศ โดยมีการตั้งเป้าหมายให้ประชากรเวียดนามทั้งหมดมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดูแลภายใน 5ปีจากนี้
Dr.Vu Thanh Nam กล่าวว่า กลไกในการควบคุมค่าใช้จ่าย การจัดระบบจ่ายชดเชย และการตรวจสอบที่เข้มแข็งเป็นส่วนสำคัญที่เวียดนามได้ศึกษาเรียนรู้จากไทย โดยในส่วนการจ่ายชดเชยค่าบริการให้กับหน่วยบริการ เวียดนามได้ดำเนินใน 3 รูปแบบเช่นเดียวกับไทย คือ 1.การจ่ายตามจริง 2.เหมาจ่ายรายหัว และ 3.การจ่ายตามรายการกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnostic related group : DRG) โดยระบบ DRG เวียดนามได้พัฒนาในเวอร์ชั่นที่ 1แล้ว แต่ด้วยในทางปฏิบัติยังติดขัดปัญหาหลายอย่าง อาทิ การใส่รหัสโรคเบิกจ่าย การกำหนดกลุ่มโรค การตรวจสอบการเบิกจ่าย เป็นต้น ทำให้ต้องเรียนรู้ประสบการณ์จากไทยเพื่อนำไปพัฒนาและปรับปรุงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของเวียดนาม
ส่วนงบประมาณในการดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น Dr.Vu Thanh Nam ยอมรับว่า ยังเป็นปัญหามากสำหรับประเทศเวียดนาม โดยเรามีแนวทางที่จะเสนอต่อรัฐบาลให้จัดสรรงบประมาณกระทรวงสาธารณสุขและประกันสังคมเพิ่มเติม เพื่อใช้ในการพัฒนาและขยายระบบให้ครอบคลุมประชากรทั้งหมด สำหรับมุมมองต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยนั้น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยเป็นตัวอย่างที่ดี โดยเฉพาะกับประเทศรายได้ปานกลางและรายได้น้อย สามารถช่วยให้ประชากรในประเทศเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและมาตรฐานได้ โดยไม่มีรายได้และสถานะการเงินเป็นอุปสรรค ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม
ข้อมูลข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์