77โรงพยาบาล‘ไฟจากฟ้า’ – ขณะนี้มีโรงพยาบาลอำเภอทั่วไทยกว่า 600 แห่งที่ติดโซลาร์เซลล์สำหรับการผลิตไฟฟ้า มาจากการผลักดันของภาคเอกชนจับมือระดมเงินสมทบ หนุนสร้างศักยภาพประเทศผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า การรณรงค์ใช้พลังงานสะอาดของกกพ. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกันแล้ว ภายใต้พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ตามมาตรา 97 (5) ที่มุ่งเน้นส่งเสริมสังคม และประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมด้านไฟฟ้า โดยเฉพาะไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG ที่ 7) ที่นานาประเทศ รวมถึงประเทศไทยมีพันธสัญญาร่วมกันที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามความตกลงปารีส ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการประชุมเจรจา COP 21
ปีที่ 2 ของการดำเนินงาน ซึ่งเริ่มต้นในปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 กกพ.ได้วางแคมเปญ “Clean Energy for life : ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” ภายใต้กลยุทธ์ Education to Action หรือการทำให้พลังงานสะอาดถูกนำมาใช้งานจริง ต่อเนื่องจากปีแรก ที่ใช้กลยุทธ์ Inspiration หรือสร้างการรับรู้ ทำให้สังคมเห็นความจำเป็นของพลังงานสะอาด
ปีนี้มีโครงการ “77 โรงพยาบาลไฟจากฟ้า” เป็นโครงการหลักในการขับเคลื่อน จากความตั้งใจที่ตรงกันของกกพ. , กระทรวงพลังงานและมูลนิธิแพทย์ชนบท ที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) ให้กับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อลดรายจ่ายค่าไฟฟ้า หลังต้องเผชิญกับภาระหนักในการต่อสู้กับโควิด-19 โดยออกแบบให้มีการระดมทุนจากสาธารณะ(Crowd funding) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชน โดยมีแกรมมี่เป็นภาคีเครือข่ายขับเคลื่อน
หลังจากเปิดโครงการพบว่าได้รับการ ตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี มาถึงวันที่ 25 มีนาคม 2564 มียอดบริจาคแล้วถึง 38 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการบริจาคโดยประชาชนรายเล็กรายน้อย ทั้งที่บริจาคให้ โรงพยาบาลเป้าหมายโดยตรง และบริจาคผ่านมูลนิธิแพทย์ชนบท จนทำให้หลาย โรงพยาบาลปิดการรับบริจาคหลังมียอดเงินเพียงพอที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา ขนาด 100 กิโลวัตต์ ซึ่งต้องใช้เงินทุนเฉลี่ยประมาณ 3.2 ล้านบาทต่อโรงพยาบาล
สําหรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้โรงพยาบาล 77 แห่ง ซึ่งเป็นล็อตแรกนั้น ทางมูลนิธิแพทย์ชนบท และชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ช่วยกันคัดกรองอย่างดี เพื่อเลือกโรงพยาบาลที่มี ความจำเป็นต้องลดรายจ่ายเร่งด่วนก่อน ขณะเดียวกันก็มีความพร้อมในเชิงโครงสร้างทางกายภาพ เช่น หลังคา โรงพยาบาล ที่จะรับน้ำหนักของแผงโซลาร์เซลล์ได้ ที่สำคัญมีแรงสนับสนุนจากผู้อำนวยการโรงพยาบาล และทีมบุคลากร ที่จะทำให้โครงการเดินหน้าได้ตามเป้าหมาย
โครงการนี้ให้ความสำคัญกับหลักธรรมาภิบาลด้วย โดยตั้งคณะกรรมการที่มาจากกกพ. และกระทรวงสาธารณสุข กำกับดูแลให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงาน มีมูลนิธิแพทย์ชนบทช่วยวางหลักเกณฑ์ มุ่งเน้นสนับสนุนบริษัทรับติดตั้งโซลาร์เซลล์ ที่เป็นรายกลางถึงรายเล็กในพื้นที่ ประกบด้วยแผนเร่งฝึกอบรมช่าง ในชุมชนให้มีความชำนาญในการติดตั้งและบำรุงรักษาโซลาร์เซลล์ ดำเนินงานโดยภาคีเครือข่ายอื่นๆ อาทิ ทีวีบูรพา มูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง จังหวัดลำปาง เป็นต้น เพื่อให้การใช้งานโซลาร์เซลล์ของโรงพยาบาลในระยะยาวเป็นไปอย่างราบรื่น
ดร.บัณฑูรกล่าวว่า โครงการ “77 โรงพยาบาลไฟจากฟ้า” ก่อประโยชน์ ทั้งในเชิงสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม นอกจากช่วยลดค่าใช้จ่ายให้โรงพยาบาลได้ราว 720,000 บาทต่อปี จากอายุการใช้งานของโซลาร์เซลล์ 25 ปี ทำให้โรงพยาบาลมีเงินเหลือไปพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาล นำมาสู่คุณภาพชีวิตของทุกคนที่ต้องเข้าไปใช้บริการแล้ว ยังก่อให้เกิดการเชื่อมโยงประชาชนผู้บริจาคเงิน และโรงพยาบาล ให้เป็นอันหนึ่งเดียวกัน และเกื้อกูลกัน รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการจ้างงานช่างชุมชน เพื่อรับติดตั้งและบำรุงรักษา โซลาร์เซลล์
ทางด้านสิ่งแวดล้อมนั้น การที่โรงพยาบาลเป็นอีกส่วนหนึ่งในการใช้โซลาร์เซลล์ ช่วยผลักดันการใช้พลังงานสะอาดในภาพรวมของประเทศ ลดความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่
ทั้งนี้ ด้วยประโยชน์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว และความตั้งใจ กับหลักเกณฑ์ที่วางขึ้นอย่างรอบคอบทำให้โครงการนี้ได้รับการตอบรับ จากหลายองค์กร รวมถึงรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ต่างทยอย เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการติดตั้งให้โรงพยาบาล อาทิ บริษัทใน เครือ ปตท., การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), 3M เป็นต้น
โครงการนี้ จึงมีแผนจะขยายเฟสต่อไป เพื่อให้ครอบคลุม โรงพยาบาลระดับอำเภอทุกแห่ง รวมกว่า 600 แห่ง ซึ่งเฟสนี้กระทรวงสาธารณสุขจะ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ภายหลัง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศความพร้อมที่จะเข้ามา สนับสนุนอย่างเต็มที่
“เชื่อมั่นว่าโครงการ 77 โรงพยาบาลไฟจากฟ้าจะสร้างแรงบันดาลใจให้มีหน่วยงาน องค์กร หรือแม้แต่คหบดีในพื้นที่ สนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาในสถานที่อื่นๆ ต่อไป อาทิ ชุมชน หรือ โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล” ดร.บัณฑูรกล่าวทิ้งท้าย