[เว็บไซต์ข่าวรอบโลกสำหรับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่] กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลพบเด็กไทยมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ติด 1 ใน 3 ของอาเซียน ซึ่งสหพันธ์โรคอ้วน (World Obesity Federation) คาดการณ์ภายในปี 2573 ประชากรอายุต่ำกว่า 20 ปีจะมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนสูงขึ้นอีกเกือบร้อยละ 50
อ่านข่าวอื่นเพิ่มเติม : 1 มี.ค ยกเลิกให้ชุดตรวจ ATK แก่นักเดินทางที่เดินทางเข้าไต้หวันและผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อยืนยัน
จากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (อาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง) ในเด็ก พบว่าเด็กประมาณ 1 ใน 3 คน ดื่มนมรสหวานทุกวัน กินขนมกรุบกรอบทุกวัน และดื่มน้ำอัดลมทุกวัน, เด็กประมาณ 1 ใน 5 คนดื่มน้ำหวาน น้ำผลไม้ทุกวัน รวมทั้งเด็กยังมีภาวะในการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารน้อย เด็กส่วนใหญ่ยังซื้ออาหารตามความชอบ มีเพียงส่วนน้อยที่คำนึงถึงคุณค่าทางอาหาร ซึ่งสาเหตุภาวะอ้วนส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง
โดยกรมอนามัยแนะนำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และโรงเรียน คือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด ควรสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเด็กในการเลือกซื้ออาหาร และส่งเสริมโภชนาการที่ดี จากการเลือกอาหารที่ดี มีประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการ ลดการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น อาหารมีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง ลดขนมหวาน และเสริมอาหารที่ถูกหลักโภชนาการให้ครบ 5 หมู่ กินอาหารกลุ่มข้าว แป้ง เนื้อสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสม เลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เพื่อเป็นการปลูกฝังนิสัยการบริโภคที่ดีให้กับเด็ก เน้นผักและผลไม้
อ่านข่าวอื่นเพิ่มเติม : ลาตรวจครรภ์ไม่ถือเป็นการลาป่วย แรงงานต่างชาติมีสิทธิ์ลาคลอด ลาเลี้ยงบุตรหลังคลอดได้
นอกจากนี้ปริมาณอาหารที่เด็กได้รับในแต่ละมื้อควรเป็นปริมาณที่เหมาะสมกับอายุ ให้ได้รับสารอาหารที่พอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป รวมทั้งควรให้เด็กออกกำลังกายง่ายๆ เช่น เต้นแอโรบิก วิ่ง ปั่นจักรยาน กระโดดตบ กระโดดเชือก ซิตอัพ ดันพื้น ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ อย่างน้อย 60 นาทีทุกวัน (สะสมต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง ให้เด็กได้พัฒนาร่างกาย กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อต่างๆ และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก