รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเมืองอัจฉริยะ (Smart City Research Center) และนักวิจัยชำนาญการด้านระบบขนส่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่ากรณีผลักดันให้บริการขนส่งในแอพพลิเคชั่นแกร็บ (Grab) ให้ถูกกฎหมายในประเทศไทยนั้นสามารถทำได้แบบในต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์และสหรัฐอเมริกา สำหรับโมเดลที่ทำกันในต่างประเทศคือผู้ให้บริการทั้งรายใหม่และคนขับแท็กซี่เดิมต้องยอมเชื่อมข้อมูลผู้ขับขี่ (สามารถระบุคนขับได้) เข้ากับภาครัฐ และ กรอบราคาค่าโดยสารเป็นไปตามกำหนดของรัฐ พร้อมกับระดับการให้บริการ แต่สิ่งที่จะเกิดคือ แท็กซี่ธรรมดาหันมาเข้าระบบนี้ แท็กซี่ที่สามารถโบกขึ้นได้เลยจะลดลงไปเรื่อยๆ ในประเทศอังกฤษมีแท็กซี่สองแบบคือแบบที่รับคนโบกได้กับแบบที่รับคนจากศูนย์ (เมื่อก่อนเป็นศูนย์โทรศัพท์ ตอนนี้ก็ใช้แอพฯได้) ก็แยกตลาดไป ซึ่งแท็กซี่โบกก็จะลดลงเรื่อยๆวิ่งในพื้นที่ใจกลางเมืองเป็นหลัก ราคาสูงขึ้น แท็กซี่ศูนย์ก็วิ่งรับคนในตรอก ซอย ชานเมือง ราคาจะมีอีกอัตรา
รศ.ดร.เอกชัยกล่าวต่อว่า ส่วนอีกโมเดลเป็นรูปแบบเปิดเสรีเลย ไม่ต้องแจ้งข้อมูลอะไรกับรัฐเลย ค่าโดยสารไปกำหนดกันเอง เพราะระบบเอกชนที่บอกว่าเช็คมาแล้วและดีกว่าของรัฐอยู่แล้ว สิ่งที่อาจจะเกิดคือ ราคาค่าโดยสารลอยตัว อาจมีผู้ให้บริการที่ไม่ใช่แค่แกร็บเกิดขึ้น มีคำถามว่าจะคุมความปลอดภัยยังไงถ้าขนาดบริษัท เงินทุน ความเข้มงวด ไม่ดีเท่ารายใหญ่ แบบนี้กลุ่มวิ่งให้บริการที่ปัจจุบันเถื่อน ก็ถูกกฎหมายหมดหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีแนวทางใช้แกร็บหรือแอพฯ อื่นๆเรียกแท็กซี่ที่เป็นแท็กซี่ธรรมดา และคิดค่าบริการตามมิเตอร์บวกกับค่าเรียกบริการผ่านแอพฯ ตามปกติ อย่างไรก็ตามราคาแท็กซี่ปัจจุบันของไทยถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ดังนั้นจึงควรมองแท็กซี่เป็นบริการขั้นพื้นฐานที่ต้องตรึงราคาหรือไม่ หรือควรปล่อยเพดานราคาเพื่อสนับสนุนผู้ขับขี่ หรือรัฐบาลควรเปิดให้รถส่วนตัวให้บริการเลยหรือไม่ ในกรณีที่เกิดเหตุเจ้าของระบบหรือผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นก็ต้องรับผิดชอบทางกฎหมายไป ในอนาคตหากเกิดแอพฯ เล็กๆน้อยๆ ผุดขึ้นมาแล้วไม่มีใครรับผิดชอบ ประชาชนจะอยู่กันอย่างไร หากสามารถตอบคำถามประเด็นพวกนี้ได้ก็จะสามารถหาทางออกให้กับเรื่องนี้ได้
ข้อมูลข่าวจาก เดลินิวส์