img
:::

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์จัดกิจกรรมส่งเสริมผู้สูงอายุห่างไกลอัลไซเมอร์

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์จัดกิจกรรมส่งเสริมผู้สูงอายุห่างไกลอัลไซเมอร์

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) จัดกิจกรรม “สร้างสรรค์สังคมไทย ห่างไกลอัลไซเมอร์ ครั้งที่ 11 เพื่อส่งเสริม และแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ในการฝึกพัฒนาตนเองของผู้สูงอายุให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นโรคหนึ่งที่พบมากในผู้สูงอายุของไทย

ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ ทีเซลส์ (TCELS) กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้ ดำเนินการภายใต้โครงการสังคมไทยห่างไกลอัลไซเมอร์เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รู้วิธีการดูแลตนเองให้ห่างไกลอัลไซเมอร์ หรือ โรคสมองเสื่อม

ซึ่งเป็นโรคที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในสังคมไทย โดยกิจกรรมต่างๆ จะช่วยเพิ่มทักษะ ป้องกันโรคไม่ให้เกิดก่อนวัยอันควร ช่วยลดความเสี่ยง และลดอัตราการเจ็บป่วยของโรคอัลไซเมอร์ อีกทั้งเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุ ลดภาระของโรคที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องการดูแลด้านสุขภาพของผู้สูงอายุอย่างทั่วถึง และการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ยังได้ส่งเสริมกิจกรรมด้านเทคโนโลยีให้กับผู้ร่วมโครงการได้สนุก และใช้เทคโนโลยีได้คล่องแคล่วมากขึ้น เพียงแอดไลน์เพิ่มเพื่อนในชื่อ @hellogoodday ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ จะมีรูปภาพหรือข้อความสวัสดีในแต่ละวัน โดยเพิ่มเติมลูกเล่นชุดรูปภาพเกม “สวัสดีสมองดี” ฝึกฝนความคิดผ่านเกมต่างๆ ช่วยฝึกทักษะด้านความจำ  การสังเกต และที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุในด้านอื่นๆ เพื่อช่วยกระตุ้นการใช้สมองส่วนต่างๆ เสมือนเป็นการออกกำลังสมองในทุกๆ วัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ

พร้อมทั้งเปิดตัว Application “Calcool Gaming” ครอบครัวหมากรุกสนุกคิด เกมฝึกสมองด้านความจำ เป็นการออกกำลังสมอง ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ เช่น เกมฝึกคำนวณ เกมสมการผลไม้แสนกล และเกมปริศนาเรขาคณิต สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ Android และระบบ iOS

ด้าน ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ รองประธานกรรมการ และเลขานุการมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า กิจกรรมนี้จะทำให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาโรคอัลไซเมอร์ ให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันและดูแลตนเอง รวมถึงสามารถดูแลญาติและผู้ใกล้ชิดได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้น ได้ผสมผสานองค์ความรู้ต่าง ๆ เกิดเป็นแนวคิดการดำเนินโครงการโรงเรียนผู้สูงอายุ หมุนเวียนเข้าร่วมกิจกรรมตามห้องเรียนต่าง ๆ เช่น ห้องเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นการเรียนการสอนเกี่ยวกับการออกกำลังสมอง เพื่อให้ผู้สูงอายุตระหนักถึงความสำคัญของการฝึกสมอง ,ห้องเรียนวิชาพลศึกษา เป็นการเรียนการสอนเกี่ยวกับการออกกำลังกาย เสริมสร้างร่างกาย และการออกกำลังกายที่เหมาะกับวัย ,ห้องเรียนวิชาเทคโนโลยีศึกษา เป็นการเรียนการสอนเกี่ยวกับการเข้าถึงเทคโนโลยี การใช้แอปพลิเคชันที่น่าสนใจ เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและบทบาทของผู้สูงอายุที่เหมาะสมกับวัย ,ห้องเรียนวิชาคหกรรมศึกษา เป็นการเรียนการสอนเกี่ยวกับการฝึกทำอาหารที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เพื่อโภชนาการที่เหมาะสมกับวัย และห้องเรียนวิชาดนตรีศึกษา ให้ดนตรีบำบัดกายปชและใจ ทำให้เกิดการผ่อนคลายด้านจิตใจ ด้วยดนตรีที่เหมาะสมกับวัย ซึ่งมีส่วนช่วยให้ห่างไกลจากโรคอัลไซเมอร์ได้

นอกจากนี้ทีเซลส์ จะนำความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์แบบองค์รวมมาใช้ เพื่อพัฒนางานบริการสำหรับผู้สูงอายุ พัฒนาต้นแบบอุปกรณ์กันการพลัดหลง หรือ ต้นแบบอุปกรณ์ที่ช่วยติดตามกิจกรรมของผู้สูงอายุ เพื่อประโยน์ทางการรักษา รวมถึงเทคโนโลยีการใช้สารสกัดธรรมชาติ หรือ ต้นแบบอุปกรณ์ทางเครื่องมือแพทย์ที่อำนวยความสะดวกด้านการรักษา สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาให้ใช้ได้จริงในอนาคต โดยการขยายผลสู่ภูมิภาคผ่านการดำเนินงานของโปรแกรมเวชนคร (Medicopolis) เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ข้อมข่าวจาก สำนักข่าวไทย

มาเป็นคนแรกที่แสดงความคิดเห็น

ข่าวเด่นประเด็นร้อน

ข่าวล่าสุด 最新消息icon
回到頁首icon
Loading