:::

One-Forty จัดนิทรรศการภาพถ่ายบันทึกเรื่องราวแรงงานข้ามชาติ และอยู่คู่กับการเติบโตของแรงงานข้ามชาติในไต้หวันตลอดระยะเวลาของการก่อตั้งกว่า 4 ปี

One-Forty จัดนิทรรศการภาพถ่ายบันทึกเรื่องราวแรงงานข้ามชาติ และอยู่คู่กับการเติบโตของแรงงานข้ามชาติในไต้หวันตลอดระยะเวลาของการก่อตั้งกว่า 4 ปี

นิทรรศการภาพถ่ายแรงงานข้ามชาติประจำปี 2019 “จุดเปลี่ยนที่ไต้หวัน” (【轉機:台灣】年度攝影展) ได้จบลงอย่างสวยงาม ซึ่งเป็นนิทรรศการภาพถ่ายเล่าเรื่องราวชีวิตของแรงงานข้ามชาติในไต้หวันที่ไม่ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ครั้งนี้มีการจัดงานที่ยิ่งใหญ่และเนื้อหาที่หลากหลายกว่าที่ผ่านมา

บอร์ดดิ้งพาสเข้าชมนิทรรศการภาพถ่ายบันทึกเรื่องราวแรงงานข้ามชาติจุดเปลี่ยนที่ไต้หวันประจำปี 2019

หนึ่งในสี่สิบ

"นิทรรศการนี้ไม่ได้เป็นเพียงนิทรรศการภาพถ่ายแต่เป็นนิทรรศการแสดงความสำเร็จขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร One-Forty ดังนั้นเราจึงพยายามใช้รูปแบบที่น่าสนใจในการนำเสนอ เพื่อให้ประชาชนผู้เข้าชมงานนิทรรศการได้เกิดความเข้าใจใหม่ในเรื่องราวของแรงงานข้ามชาติ” คุณ Jessicaไกด์นำชมนิทรรศการกล่าว คุณ Jessica เป็นผู้จัดการดูแลกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และยังทำหน้าที่สอนภาษาจีนให้กับแรงงานข้ามชาติชาวอินโดนิเซียด้วย คุณพ่อของเธอ เคยเป็นนักธุกิจไต้หวันในอินโดนิเซีย ดังนั้นเธอจึงเติบโตที่อินโดนิเซีย แต่เธอก็ได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนสำหรับชาวจีนโพ้นทะเลมาโดยตลอด จึงทำให้พูดภาษาอินโดนิเซียไม่ได้ เธอไม่คาดคิดว่าในตอนนี้จะมีโอกาสเข้าร่วมกับองค์กรช่วยเหลือด้านการศึกษาสำหรับแรงงานข้ามชาติชาวอินโดนิเซียในไต้หวัน

One-Forty ก่อตั้งขึ้นในปี 2015 เนื่องจากคุณเฉิน ไข่เสี๋ยง (陳凱翔) ผู้ก่อตั้งได้เดินทางไปอินโดนิเซียและพบว่ามีชาวอินโดนิเซียหลายคนที่เคยทำงานในไต้หวัน อีกทั้งหลายคนมีญาติพี่น้องและเพื่อนๆ ที่ยังคงทำงานในไต้หวันเช่นกัน หลังจากที่คุณเฉิน ไข่เสี๋ยงกลับมาไต้หวันก็ได้เดินทางไปตามหาแรงงานกลุ่มนี้จนทำให้ตนเองเกิดแรงจูงใจในการทำบางสิ่งเพื่อพวกเค้า คุณเฉินจึงได้เลือกบริเวณห้องโถงกลางของสถานีรถไฟกลางไทเปซึ่งเป็นที่ๆ มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากในการพูดคุยและทักทายกับแรงงานชาวอินโดนิเซีย โดยใช้ภาษาอินโดนิเซียแบบง่ายๆ และเชิญชวนพวกเค้ามาเรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะภาษาจีน หรือเรียนรู้หลักสูตรผู้ประกอบการธุรกิจ

ในตอนเริ่มต้นนั้นมีผู้ร่วมก่อตั้งเพียงสองคนเท่านั้นที่ลงทุนลงแรงเต็มเวลาและมีอาสาสมัครเพียงไม่กี่คน แต่ตอนนี้ One-Forty พ นักงานประจำ 8 คน ซึ่งในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่ายในการดำเนินการองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร แต่พวกเขาก็เติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง สำหรับเหตุผลที่ตั้งชื่อว่า One-Forty เพราะว่าองค์กรเริ่มก่อตั้งในเดือน 7 ปี 2015 ซึ่งในตอนนั้น ชาวไต้หวันทุก 40 คน จะมีแรงงานข้ามชาติจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 1 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบหนึ่งในสี่สิบของประชากรไต้หวัน “ถ้าเป็นตอนนี้น่าจะ

มีอัตราส่วนแรงงาน 1 คน ต่อประชากรไต้หวัน 33 คน” คุณ Jessica กล่าว

 

จุดเปลี่ยนที่ไต้หวันนิทรรศการภาพถ่ายประจำปี

กลับมาที่นิทรรศการภาพถ่าย ในปี 2017 One-Fortyได้เคยจัดนิทรรศการภาพถ่ายที่ Huashan และอีก 2 ปีต่อมา ก็ได้จัดนิทรรศการภาพถ่ายในครั้งนี้ซึ่งมีความยิ่งใหญ่มากกว่าเดิม สำหรับเหตุผลที่ตั้งชื่องานนิทรรศการว่า “จุดเปลี่ยนที่ไต้หวัน” นั้นมีความหมาย 3 ระดับคือ 1. ไต้หวันไม่ได้เป็นบ้านที่ถาวรของแรงงานข้ามชาติ เป็นเพียงแค่จุดเปลี่ยนในชีวิตของพวกเค้า 2.คาดหวังว่าแรงงานข้ามชาติจะค้นพบจุดเปลี่ยนสำหรับชีวิตของตนเองผ่านการเรียนรู้พัฒนาศักยภาพตนเองในระหว่างทำงานในไต้หวัน 3. ทำความรู้จักแรงงานข้ามชาติรอบๆ ตัว เพื่อสร้างสังคมแห่งความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งในอนาคตเราจะสามารถทำการแลกเปลี่ยนที่เป็นมิตรกับประเทศบ้านเกิดของแรงงานข้ามชาติได้ง่ายขึ้น นี่คือจุดเปลี่ยนของไต้หวัน

ไต้หวันไม่ได้เป็นเพียงจุดเปลี่ยนสำหรับแรงงานข้ามชาติเท่านั้น แต่การมีส่วนร่วมของแรงงานข้ามข้ามชาติในสังคมไต้หวันก็น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับไต้หวันเช่นกัน

“จุดเปลี่ยนที่ไต้หวัน” นิทรรศการภาพถ่ายประจำปีจัดขึ้นที่สวนวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ซงชาน โดยแบ่งออกเป็นห้าโซนการจัดแสดง ทันทีที่เดินเข้าประตูคุณจะได้รับบอร์ดดิ้งพาสขึ้นเครื่องจากอาสาสมัครซึ่งหมายความว่าการเดินทางกับแรงงานข้ามชาติครั้งนี้กำลังจะเริ่มขึ้น ภาพในนิทรรศการจะมีเรื่องราวชีวิตมากมาย การจัดแสดงภาพ ฉากหลังมีความน่าสนใจและนำประสบการณ์หลายระดับมาสู่ผู้เยี่ยมชม

สำหรับพื้นที่จัดนิทรรศการโซนแรกเรียกว่า“ออกเดินทางจากบ้านเกิด”เป็นจุดเริ่มต้นของแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นบ้านเกิดของพวกเขา โดยพื้นที่จัดแสดงนี้มีการจัดภาพถ่ายแบบ 360 องศา เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมสามารถเดินเข้าไปและสัมผัสกับภาพของบ้านเกิดของแรงงานข้ามชาติ นอกจากนี้ยังมี VR ให้ผู้ชมได้สัมผัสกับชีวิตที่เรียบง่ายที่บ้านเกิดของแรงงานข้ามชาติด้วย

สำหรับพื้นที่จัดแสดงที่สองมีชื่อว่า “ชีวิตประจำวันในต่างแดน” โดยมีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้ผู้ชมนิทรรศการรู้จักงานที่พวกเค้าทำ และในวันหยุดทำกิจกรรมอะไรบ้าง โดยสิ่งที่สร้างความประทับใจได้เป็นอย่างดีคือโซนพัสดุที่มีการจัดแสดงสิ่งของที่แรงงานข้ามชาติ 2-3 คน ส่งกลับบ้าน ไม่ว่าจะเป็นหม้อ 1 ใบ  รองเท้าผ้าใบ 1 คู่ หม้อหุงข้าวไฟฟ้า 1 เครื่อง หรือของใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งของแต่ละชิ้นต่างมีเรื่องราวเบื้องหลังซ่อนอยู่ และแม้ว่าเรื่องราวพวกนี้อาจไม่แปลกมากนัก แต่ก็เต็มไปด้วยความคิดถึงบ้านเกิดของแรงงานข้ามชาติซึ่งอ่านแล้วทำให้รู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก

ส่วนพื้นที่การจัดแสดงที่สามมีชื่อว่า “เสียงของแรงงานข้ามชาติ” เป็นพื้นที่จัดแสดงภาพถ่ายของแรงงานข้ามชาติ โดยมีผลงานของ Joan Pabona ชาวฟิลิปปินส์ที่ครั้งหนึ่งเคยทำงานเป็นแม่บ้านที่สิงคโปร์และฮ่องกง เธอเริ่มสนใจถ่ายภาพตอนที่ทำงานอยู่ที่ฮ่องกง โดยผลงาน Sacrifice ของเธอได้รับรางวัลจากการประกวดภาพถ่ายเยาวชน ในปี 2017 (National Geographic Wheelock Youth Photo Competition 2017) ซึ่งในปี 2019 สัญญางานของเธอก็ได้สิ้นสุดลง และเธอก็ได้ทำงานเป็นช่างภาพอย่างเต็มตัว

ในพื้นที่การจัดแสดง“เสียงของแรงงานข้ามชาติ”ยังจัดแสดงผลงานจากแรงงานข้ามชาติทั่วไต้หวัน โดยในปีนี้ One-Forty ได้เปิดให้แรงงานข้ามชาติส่งภาพถ่ายประกอบการบอกเล่าเรื่องราวในไต้หวันเป็นครั้งแรก โดยมีผลงานที่ส่งเขามาทั้งหมดกว่า 216 ผลงานของแรงงานข้ามชาติจากสถานที่ต่าง ๆ และได้คัดเลือกมาจัดแสดงในนิทรรศการจำนวน 19 ผลงาน

“ผู้คนจำนวนมากที่ได้อ่านเรื่องราวในพื้นที่จัดแสดงนี้ ล้วนแต่เกิดความประทับใจจนน้ำตาคลอทั้งนั้น” คุณ Jessica ไกด์นำชมนิทรรศการกล่าวว่า ภาพแต่ละภาพแสดงให้เห็นถึงเรื่องราวที่พวกเค้าต้องจำจากบ้านเกิดมาทำงานหรือการสร้างมิตรภาพที่ลึกซึ้งระหว่างผู้คน

สำหรับพื้นที่จัดแสดงที่สี่ของนิทรรศการมีชื่อว่า “นอกเหนือจากการเป็นแรงงานข้ามชาติ” เป็นการนำเสนอเรื่องราวนอกอกเหนือจากการทำงาน แรงงานข้ามชาติว่าพวกเค้าทำอะไรบ้าง แรงงานข้ามชาติในไต้หวันนอกเหนือจากชีวิตการทำงานก็เหมือนเรา แรงงานข้ามชาติบางคนชอบไปเป็นอาสาสมัครทำความสะอาดชายหาดของทีมอาสาสมัคร Universal volunteer พื้นที่จัดแสดงนี้ยังมีการแสดงผลงานศิลปะของคุณหลั๋ว อี้จุน (羅懿君) ศิลปินชาวไต้หวันที่ใช้ขยะที่แรงงานข้ามชาติเก็บทำความสะอาดชายหาดรวบรวมนำมารังสรรค์เป็นผลงานศิลปะจัดวาง ที่เมื่อมองจากระยะไกลพวกมันสวยงามมาก แต่พอเดินมาชมใกล้ๆ จึงรู้ว่าเป็นขยะที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

Mark Lester Reyes เป็นพนักงานโรงงานแห่งหนึ่งในเถาหยวนได้ใช้เวลาว่างในการแปรรูปเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้จากโรงงานให้เป็นชุดสวย ๆ เกือบร้อยชุด ซึ่งทีมของเธอได้รับเชิญให้จัดแสดงผลงานที่งานเทศกาลศิลปะ Nuit Blanche กรุงไทเป โดยชุดของเธอที่จัดแสดงในงานนิทรรศการได้แสดงถึงความละเอียดและปราณีตอย่างน่าอัศจรรย์

สำหรับพื้นที่จัดแสดงที่ห้ามีชื่อว่า “จุดเปลี่ยนที่ไต้หวัน” เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของการเดินทางองค์กรไม่แสวงกำไร  One-Forty ซึ่งแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการเรียนในหลักสูตรเพิ่มขีดความสามารถ หลังจากนั้นไปไหน? หลังจากที่กลับบ้านเกิด พวกเค้าได้นำสิ่งที่เรียนรู้ในระหว่างที่ทำงานอยู่ในไต้หวันทำให้มันเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของพวกเค้าหรือไม่?นักเรียนของ One-Forty บางคนได้เรียนภาษาจีนและกลับไปที่บ้านเกิดเพื่อทำงานเป็นนักแปลและครูสอนภาษาจีน ในขณะที่คนอื่น ๆ ใช้ทักษะทางธุรกิจที่ได้เรียนรู้เพื่อเริ่มต้นธุรกิจของตนเองได้อย่างราบรื่น โดยในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาทางองค์กรได้เปิดหลักสูตรเกือบ 150 หลักสูตร ซึ่งรวมถึงหลักสูตรภาษาจีนและภาษาอังกฤษ การจัดการทางการเงิน และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีวิดีโอเพื่อการเรียนรู้ออนไลน์กว่า 300 รายการ จนสามารถมอบความรู้และทักษะให้แรงงานข้ามชาติได้มากกว่า 37,500 คนแล้ว

พื้นที่จัดแสดงในงานนิทรรศการทั้ง 5 โซน ได้รับการออกแบบและคิดโดยเจ้าหน้าที่ของ One-Forty นิทรรศการนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็นสะพานที่สร้างโดยทั้งสองฝ่าย เพื่อให้แรงงานข้ามชาติที่ใช้ชีวิตในไต้หวันกล้าที่จะพูดและไม่เงียบอีกต่อไป

Mark Lester Reyes ใช้เวลาว่างในการแปรรูปเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้จากโรงงานจนกลายเป็นชุดสวย ๆ เกือบร้อยชุด

 

หลังจากจัดแสดงนิทรรศการ

One-Forty ในตอนนี้สามารถรับนักเรียนได้มากกว่า 120 คน ต่อ 1 ภาคการศึกษา ซึ่งเห็นได้ชัดว่าหลักสูตรของพวกเขามีชื่อเสียงและมีการบอกกันปากต่อปากในหมู่แรงงานข้ามชาติชาวอินโดนิเซีย ในอนาคตก็ได้มีแผนขยายขอบเขตนอกเหนือจากนักเรียนที่เป็นแรงงานชาวอินโดนิเซีย โดยคาดว่าจะเริ่มจากฟิลิปปินส์ จากนั้นจะเป็นเวียดนาม, ไทย ...เป็นต้น

สำหรับแรงงานข้ามชาติหลายคน การจะเดินทางจากบ้านนายจ้างมาเรียนที่ไทเปนั้นไม่ง่ายนัก ดังนั้น One-Forty ได้เปิดตัวโครงการระดมทุนสำหรับหนังสือที่ดี ซึ่งเป็นแผนการศึกษาและการเรียนรู้ที่เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับแรงงานข้ามชาติในไต้หวัน โดยมีการส่งกระเป๋าเพื่อการเรียนรู้พิเศษในแต่ละปีจำนวน 1 พันใบ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติที่พึ่งเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันได้รับสื่อการสอนและแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ฟรี ในอนาคตไม่ว่าจะเมืองไหน พื้นที่ห่างไกล หรือเกาะรอง แรงงานข้ามชาติสามารถใช้เวลาหลังเลิกงานเรียนภาษาจีน และเข้าใจวัฒนธรรมไต้หวัน เพื่อสร้างการสื่อสารที่ดีขึ้นกับนายจ้าง และรู้สึกได้ถึงความความปรารถนาดีของชาวไต้หวัน

"เราเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรดังนั้นเราจึงยังหวังว่าเราจะสามารถระดมทุนได้อย่างราบรื่น และด้วยความความปรารถนาดีของสาธารณะชน เงินทุนที่ได้มาก็จะถูกใช้อย่างคุ้มค่าที่สุดเพื่อคืนสู่สังคม” คุณ Jessica กล่าวว่า ตนหวังว่านิทรรศการภาพถ่ายครั้งนี้ จะทำให้ One-Forty เป็นที่รู้จักและได้รับการสนับสนุนจากในสังคมไต้หวันมากขึ้น และได้ก้าวไปข้างหน้าและพัฒนาอย่างแข็งแกร่งภายใต้ความคาดหวังของทุกคน

2

มาเป็นคนแรกที่แสดงความคิดเห็น

ข่าวเด่นประเด็นร้อน

ข่าวล่าสุด 最新消息icon
回到頁首icon
Loading