[เว็บไซต์ข่าวรอบโลกสำหรับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่] ตามรายงานข่าวของ [เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลนโยบายมุ่งใต้ใหม่] ในปี 2022 ทบวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไต้หวัน และกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ร่วมจัด “การประชุมว่าด้วยเทคโนโลยีการอนุรักษ์ดินและน้ำใต้ดิน ระหว่างไต้หวัน – ไทย ประจำปี 2022 ครั้งที่ 2” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 200 คน
การประชุมได้จัดขึ้นในรูปแบบไฮบริดทั้งการประชุมในสถานที่จริงและการประชุมผ่านรูปแบบออนไลน์ โดยได้มีการเชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมอภิปรายในประเด็นความต้องการและการพัฒนาการบำบัดแก้ไขปัญหามลพิษในดินและน้ำใต้ดิน และรัฐบาลไต้หวันได้ใช้โอกาสนี้ในการผลักดันเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหามลพิษในดินและน้ำ เพื่อบรรลุเป้าหมายการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระหว่างไต้หวัน – ไทย
นายหลิวรุ่ยเสียง เลขาธิการทบวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวขณะปราศรัยว่า การประชุมแลกเปลี่ยนนานาชาติในปี 2022 มิหวั่นเกรงต่อผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด – 19 แต่ยังคงจัดการประชุมขึ้นในรูปแบบไฮบริด เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางความร่วมมือแบบทวิภาคีในเชิงลึก โดยการประชุมครั้งนี้ได้มีการจัดอภิปรายในประเด็นความต้องการและการพัฒนาการบำบัดแก้ไขมลพิษในดินและน้ำใต้ดินในเชิงลึก โดยรัฐบาลไต้หวันได้ใช้โอกาสนี้ในการทำความเข้าใจต่อสถานการณ์และความต้องการในการพัฒนาอุตสาหกรรมการอนุรักษ์และการแก้ไขปัญหาทางมลพิษของไทย และไต้หวันยินดีที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์และเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางความร่วมมือนานาชาติระหว่างภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการ ในด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ ระหว่างไต้หวัน – ไทย
นายพรศักดิ์ ภู่อิ่ม รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย กล่าวว่า ปัญหามลพิษในดินและน้ำใต้ดิน มีสาเหตุหลักมาจากการบริหารจัดการสารเคมีที่ไม่เหมาะสม หลุมฝังกลบขยะรั่วไหล การลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเหมืองแร่ และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น โดยปัจจุบันในไทยยังไม่มีกฎหมายที่รองรับการควบคุมหรือฟื้นฟูเขตพื้นที่ที่ได้รับมลพิษเหล่านี้ และไม่มีงบประมาณในการดำเนินการแก้ไขปัญหามลภาวะเหล่านี้เฉกเช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว คาดหวังว่าจากการประชุมในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ภาครัฐทั้งสองฝ่ายจะร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เพื่อแสวงหาแนวทางความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพด้านการป้องกันมลพิษในดินและน้ำใต้ดินให้แก่ไทยอย่างต่อเนื่องต่อไป