นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สถานการณ์ทะเลไทยมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนที่ไทยปิดพื้นที่ลดการเคลื่อนที่ทั่วประเทศ ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติฟื้นตัวได้อย่างมาก ได้เห็นฝูงพะยูนหลาย 10 ตัว ฝูงโลมา วาฬเพรชฆาตดำ ฝูงฉลามหูดำที่อ่าวมาหยา และเต่ามะเฟือง เต่าตะนุที่กลับมาวางไข่ ซึ่งในรอบ 2 เดือนมาเต่าขึ้นมาวางไข่นับแสนฟอง
ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นข้อมูลสำคัญให้เจ้าหน้าที่นำมาใช้ในการปรับปรุงวิธีการดูแลแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ การปรับวิถีการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่ไม่กระทบต่อแหล่งทรัพยากรระบบนิเวศ โดยกระทรวงพร้อมสนับสนุนการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี เข้ามาช่วยในการดูแล ป้องกัน และบริหารจัดการพื้นที่ทางธรรมชาติ เช่น การใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ ในการสำรวจสัตว์ทะเลหายาก ระบบพยากรณ์ทางสมุทรศาสตร์กับการเฝ้าระวังปะการังฟอกขาว และการประยุกต์ใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจัดวางเป็นปะการังเทียม ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ทางทะเลของไทยให้สามารถปกป้องทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า สำหรับการเปิดอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศในด้านการท่องเที่ยวอีกครั้งนั้น ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ สั่งการอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ และแผนการรองรับประชาชนนักท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับแต่ละจุดแต่ละแห่ง โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยว และจุดที่ท่องเที่ยว ที่จะมีความเปลี่ยนไปจากเดิม เป็นชีวิตวิถีใหม่ หรือ New normal โดยจะมีระบบจองตั๋วล่วงหน้า ไม่รับนักท่องเที่ยวเกินความสามารถหรือรับนักท่องเที่ยวจนมีสภาพแออัด ย้ำว่าต้องไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนั่นเด็ดขาด ซึ่งจะเป็นผลดีทั้งความปลอดภัยของสุขอนามัยนักท่องเที่ยว และทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบไม่มากเกินไป ซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้ามากขึ้นแล้ว คาดว่าในช่วงการผ่อนปรนระยะที่ 4 หรือประมาณเดือนกรกฎาคม จะสามารถเปิดให้อุทยานแห่งชาติบางแห่งกลับมาต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ แต่ย้ำว่าหากเปิดให้ท่องเที่ยวได้แล้ว หากพบปัญหาด้านการจัดการ ปัญหาขยะ โดยเฉพาะพบว่ามีสัตว์ป่ากินขยะพลาสติกจนตายอีก อาจจะต้องประกาศปิดอุทยานแห่งชาตินั้นอีกครั้งทันที ทั้งนี้จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกคนที่จะเดินทางไปเที่ยวในอุทยานต้องปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตามในส่วนของการนำเที่ยวในพื้นที่ต่างๆ ต้องมีการปรับปรุงใหม่เช่นกัน โดยจะทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่มากขึ้น จากนี้จะพิจารณาให้สิทธิกลุ่มนำเที่ยว หรือบริษัทด้านการท่องเที่ยว ท้องถิ่นหรือเป็นคนในพื้นที่ก่อนเป็นอันดับแรก รวมทั้งต้องมีคนในชุมชนเข้ามาเป็นไกด์นำเที่ยวในแต่ละครั้งด้วย จึงจะได้รับพิจารณาอนุญาตเข้ามาทำธุรกิจท่องเที่ยวหรือนำเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หากบริษัทใดมาจากพื้นที่อื่นจะได้รับสิทธิพิจารณาอนุญาตทำธุรกิจเป็นอันดับท้ายๆ ซึ่งมั่นใจว่าชุมชนจะช่วยพัฒนาให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มีความรักความหวงแหนในทรัพยากรท้องถิ่น และให้ความรู้ได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับคนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ข้อมูลข่าวจาก สำนักข่าวไทย