นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เปิดเผยว่า แกร็บมีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตของระบบการเดินทางอัจฉริยะ เพื่อมอบทางเลือกในการเดินทางที่ไร้มลพิษ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นให้แก่คนไทย ด้วยความร่วมมือของพันธมิตรเครือข่ายการเดินทางในเมืองเชียงใหม่ (Chiang Mai Smart Mobility Alliance Network) มีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างอนาคตแห่งการเดินทางที่ไร้มลพิษและลดปัญหาการจราจรในเชียงใหม่
โดยได้เปิดตัว แกร็บตุ๊กตุ๊ก ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ผ่านแอพพลิเคชั่นแกร็บเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมส่งเสริมการใช้รถพลังงานไฟฟ้า และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่พาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่ผ่านช่องทางการติดต่อกับผู้โดยสารที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่พาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่รายใหม่ของแกร็บตุ๊กตุ๊ก ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ที่ได้รับประโยชน์จากการที่ต้นทุนการประกอบอาชีพลดลงกว่าร้อยละ 80 จากเดิมที่ต้องเติมก๊าซแอลพีจีเฉลี่ยวันละ 200 บาท คิดเป็นต้นทุนเชื้อเพลิง 6,000 บาทต่อเดือน เมื่อเปลี่ยนมาใช้รถตุ๊กตุ๊กพลังงานไฟฟ้า จะมีค่าไฟจากการชาร์จสูงสุดเพียง 1,400 บาทต่อเดือน อีกทั้งยังมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการให้บริการที่สะดวกรวดเร็วผ่านแอพพลิเคชั่นแกร็บบนมือถือ
สำหรับบริการแกร็บตุ๊กตุ๊ก ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า จะมาเสริมความครบครันด้านบริการผ่านแอพพลิเคชั่นแกร็บด้วยทางเลือกในการเดินทางที่ปลอดภัยและไร้มลพิษ ร่วมกับบริการแกร็บรถแดง แกร็บแท็กซี่ แกร็บไบค์ (วิน) จัสท์แกร็บ รวมถึงแกร็บฟู้ด และแกร็บเอ็กซ์เพรส ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กที่ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นรถตุ๊กตุ๊ก ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ารวม 450 คันภายในสิ้นปีนี้.
แกร็บตุ๊กตุ๊ก ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของแกร็บในการสนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย และเป็นการตอบรับนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องในการขับเคลื่อนระบบ ขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0
ผศ. ดร. ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา และ ผู้บริหาร สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เชียงใหม่เป็นหนึ่งใน 3 เมืองต้นแบบร่วมกับภูเก็ตและขอนแก่นที่ภาครัฐได้ให้การสนับสนุนอย่างรอบด้านสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งความร่วมมือจากพันธมิตรในการจัดตั้งเครือข่ายการเดินทางในเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ จะเป็นอีกพลังขับเคลื่อนสำคัญในการริเริ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการคมนาคมขนส่งให้ไปสู่ระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 แกนหลักของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะตามที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ได้กำหนดไว้
นอกจากนี้ การผนวกความร่วมมือและนวัตกรรมจากทั้งภาครัฐและเอกชนยังเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วยเครือข่ายการเดินทางที่เข้าถึงได้ง่ายและไร้รอยต่อผ่านช่องทางดิจิทัล และที่สำคัญคือ ความมุ่งมั่นในการร่วมกันแก้ไขปัญหาเรื่องมลพิษในเชียงใหม่ผ่านการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งเมื่อบูรณาการเข้ากับบริการแกร็บตุ๊กตุ๊ก ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในโครงข่ายการเดินทางจะสามารถมอบบริการการเดินทางสาธารณะที่ปลอดมลพิษ ครอบคลุม และหลากหลายมากยิ่งขึ้น ผลักดันให้ผู้เดินทางลดการใช้รถส่วนตัวเพื่อลดมลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อมูลข่าวจาก เดลินิวส์