ตามข้อมูลจาก “โรงพยาบาลกรุงเทพ”
1) ลดความอ้วนต้องอดอาหาร
ความจริง : หากต้องการลดน้ำหนัก เราต้องให้ร่างกายมีการใช้พลังงานหรือมีการเผาผลาญพลังงานให้มากกว่าพลังงานจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ดังนั้นการลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนจึงต้องมีการควบคุมปริมาณแคลอรี่จากการรับประทานอาหาร ซึ่งไม่ใช่การอดอาหาร โดยเฉลี่ยผู้หญิงต้องการพลังงานประมาณ 2,000 กิโลแคลอรี่ และผู้ชายต้องการพลังงานประมาณ 2,500 กิโลแคลอรี่ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ หากต้องการลดน้ำหนัก แนะนำให้ลองลดแคลอรี่ในอาหารที่รับประทานลงวันละ 500 กิโลแคลอรี่ หรือเพิ่มกิจวัตรประจำวัน และกิจกรรมที่เพิ่มการเผาผลาญมากขึ้น 500 กิโลแคลอรี่ก็จะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนได้ นอกจากนี้ปัจจัยที่ส่งผลกับการใช้พลังงานในร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยขึ้นอยู่กับเพศ อายุ กิจวัตรประจำวัน ฯลฯ หากไม่แน่ใจว่าควรรับประทานอาหารในปริมาณเท่าไรถึงจะเหมาะสมกับการลดน้ำหนักโดยที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง การปรึกษาผู้ชำนาญการน่าจะเป็นทางเลือกที่ทำให้สามารถเดินไปสู่เป้าหมายได้ดีขึ้น
2) ช่วงลดน้ำหนักให้รับประทานเฉพาะเมื่อรู้สึกหิว
ความจริง: การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลาหรือปล่อยให้ร่างกายอดอาหารเป็นเวลานานจนรู้สึกหิวจะไปกระตุ้นฮอร์โมนความเครียดที่ชื่อ Cortisol ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารกลุ่มที่มีน้ำตาลและไขมันสูง การรับประทานอาหารกลุ่มนี้มาก ๆ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการได้รับพลังงานเกินกว่าความต้องการ และเกิดโรคอ้วนได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลา 3 มื้อมากกว่าการรับประทานเมื่อหิว
อ่านข่าวเพิ่มเติม: ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่แซวกันสนั่นโซเชียล ! ป้ายสีแดงหน้าร้านค้า อีกหนึ่งเรื่องตลกๆ ในไต้หวัน
3) รับประทานเนื้อสัตว์ไม่ทำให้อ้วน
ความจริง : ในภาวะปกติที่ร่างกายไม่ได้อยู่ในสภาวะอดอาหารหรือขาดอาหารอย่างรุนแรง ร่างกายจะไม่มีการนำโปรตีนมาเปลี่ยนเป็นพลังงาน หรือนำโปรตีนไปเป็นแหล่งพลังงาน เพราะร่างกายได้รับพลังงานอย่างเพียงพอจากสารอาหารกลุ่มแป้งและไขมันแล้ว ดังนั้นการรับประทานอาหารกลุ่มโปรตีนจำพวกเนื้อสัตว์จึงไม่ได้เป็นสาเหตุของความอ้วน แต่เนื่องจากในเนื้อสัตว์มีชั้นไขมันแทรกอยู่ การรับประทานเนื้อสัตว์ที่ติดมันหรือมีไขมันแทรกเป็นจำนวนมากอาจเป็นสาเหตุของแคลอรี่ที่เกินและทำให้อ้วนได้ ดังนั้นหากต้องการลดหรือควบคุมน้ำหนัก แนะนำให้รับประทานเนื้อสัตว์ชนิดที่มีไขมันต่ำ ตัวอย่างเช่น เนื้ออกไก่ เนื้อสันในหมู ไข่ขาวต้ม เป็นต้น
4) ช่วงลดน้ำหนักควรรับประทานเฉพาะผักและผลไม้
ความจริง : หัวใจของการลดน้ำหนักอย่างหนึ่งคือ การควบคุมปริมาณแคลอรี่ของอาหารที่รับประทาน โดยไม่ให้มากกว่าปริมาณที่ใช้ในแต่ละวัน และที่สำคัญคือการควบคุมแคลอรี่ต้องไม่ทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นในการดำรงชีวิต การรับประทานผักและผลไม้เพียงอย่างเดียวถึงจะได้รับพลังงานเพียงพอ แต่ก็จะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นอื่น ๆ จึงไม่แนะนำให้รับประทานแต่ผักและผลไม้เพื่อลดน้ำหนัก นอกจากนี้การรับประทานผักเพิ่มในมื้ออาหารหรือการรับประทานผลไม้ทดแทนขนมหวานหรือขนมจุกจิกระหว่างมื้อน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะผักและผลไม้มีกากใย ช่วยให้รู้สึกอิ่มได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยในการขับถ่าย แต่ก็ควรระวังไม่เลือกรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานจัดจนเกินไป
5) ช่วงลดน้ำหนักต้องงดแป้ง
ความจริง : อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตยังคงเป็นสารอาหารหลักที่ให้พลังงานและมีความจำเป็นสำหรับร่างกาย การรับประทานแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เหมาะสมจึงไม่ทำให้อ้วน เนื่องจากปัจจุบันอาหารที่เรารับประทานมีส่วนประกอบของแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตในปริมาณมาก จึงได้เกิดคำแนะนำสำหรับการลดน้ำหนักว่าให้ลดหรืองดแป้ง ทั้งที่จริงแล้วสารอาหารจำพวกแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตไม่ใช่สาเหตุทั้งหมดของความอ้วน คำแนะนำเบื้องต้นในการเลือกรับประทานแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตคือ สามารถรับประทานแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตได้ในมื้อเช้าและมื้อกลางวัน แต่ควรงดหรือจำกัดปริมาณในมื้อเย็น สำหรับชนิดของคาร์โบไฮเดรตควรเลือกเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ข้าวไม่ขัดสีต่าง ๆ ขนมปังโฮลวีท เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในร่างกายเพิ่มขึ้นช้า ๆ รู้สึกอิ่มได้นาน ลดความอยากอาหารและช่วยลดความหิวได้ สำหรับมื้อเย็นแนะนำให้เน้นทานอาหารกลุ่มโปรตีนและผักใบเขียวทดแทนอาหารกลุ่มแป้งจะเป็นวิธีที่สามารถช่วยลดน้ำหนักได้
6) รับประทานเร็วหรือช้าไม่มีผลต่อการลดน้ำหนัก
ความจริง : การใช้เวลาในการรับประทานอาหารให้ช้าลง เคี้ยวอาหารให้ละเอียดขึ้น ช่วยให้ลดหรือควบคุมน้ำหนักได้ดีขึ้น การเคี้ยวอาหารให้ละเอียดและการรับประทานช้า ๆ จะช่วยกระตุ้นและส่งสัญญาณไปยังสมองส่วนกลางที่ทำหน้าที่ควบคุมความหิวและความอิ่ม ทำให้อิ่มเร็วขึ้น นอกจากนี้การเคี้ยวอาหารให้ละเอียดยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้มีประสิทธิภาพดีขึ้นอีกด้วย
7) อาหารที่มีฉลากไขมันต่ำหรือไม่มีไขมัน หมายความว่าไม่มีแคลอรี่
ความจริง : การอ่านฉลากโภชนาการควรให้ความสำคัญกับรายละเอียดหรือส่วนประกอบของอาหารด้วย ทั้งปริมาณโปรตีน เกลือแร่ และสารปรุงแต่งอื่น ๆ ไม่ใช่สนใจเพียงปริมาณแคลอรี่รวมหรือปริมาณไขมันเท่านั้น การรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำหรือไม่มีไขมันเลยอาจช่วยลดแคลอรี่ได้มากกว่ารับประทานอาหารปกติ แต่อาหารไขมันต่ำบางส่วนอาจมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายต่ำกว่าอาหารปกติชนิดเดียวกัน อีกทั้งยังอาจต้องมีการดัดแปลงเพิ่มแป้ง เกลือ หรือน้ำตาลลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติให้อร่อยขึ้นหลังจากเอาไขมันออกไป ดังนั้นการเลือกอาหารจากการพิจารณาปริมาณไขมันเพียงอย่างเดียวจึงอาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด
8) การออกกำลังกายแบบยกเวท ทำให้ล่ำและไม่ช่วยลดน้ำหนัก
ความจริง : น้ำหนักของร่างกายบนตาชั่ง บ่งบอกได้ถึงน้ำหนักของไขมัน กล้ามเนื้อ และกระดูก การลดน้ำหนักที่ถูกต้องคือ การลดสัดส่วนของไขมันในร่างกาย ในผู้ชายไม่ควรมีน้ำหนักไขมันเกิน 28% ผู้หญิงไม่เกิน 32% เพราะฉะนั้นการยกเวทเป็นการทำให้มวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นและเปอร์เซ็นต์ไขมันลดลง ซึ่งกล้ามเนื้อนี้เองจะเป็นตัวช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย โดยจะไปเพิ่ม BMR หรือก็คือ Basal Metabolism ซึ่งหมายถึงอัตราความต้องการเผาผลาญพลังงานของร่างกายในชีวิตประจำวัน หรือจำนวนแคลอรี่ขั้นต่ำที่ต้องการใช้ในชีวิตแต่ละวัน ซึ่งทำให้ส่งผลดีกับสุขภาพ โดยการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เช่น การยกน้ำหนัก วิดพื้น จะช่วยสร้างมวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การมีมวลกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกายที่เหมาะสมจึงมีส่วนช่วยอย่างมากในการลดและควบคุมน้ำหนัก และหากออกกำลังกายอย่างเหมาะสม กล้ามเนื้อก็จะไม่ได้มีการขยายขนาดผิดปกติจนทำให้รูปร่างผิดสัดส่วนอย่างที่กังวลกัน
9) กินอาหารมังสวิรัติช่วยลดความอ้วนได้
ความจริง : การทานอาหารมังสวิรัติไม่ใช่การทานอาหารเพื่อลดน้ำหนัก การทานอาหารเพื่อลดน้ำหนัก คือ การทานอาหารในสัดส่วนของโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรตให้เหมาะสมกับพลังงานที่ต้องการ อาหารแบบมังสวิรัติบางอย่างมีคาร์โบไฮเดรตและไขมันสูงสามารถทำให้อ้วนได้เช่นกัน
10) อาหารเสริมลดความอ้วนมีประสิทธิภาพลดความอ้วนได้ดีและรวดเร็ว
ความจริง : การลดน้ำหนักที่ดีและรวดเร็วต้องปฏิบัติดังนี้ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่ถูกต้อง อาหารเสริมที่มีบทความวิจัยที่ช่วยการเพิ่มการเผาผลาญไขมัน เช่น แอลคาร์นิทีน (L-Carnitine) เออร์วินเจย (Irvingia Gabonensis) เยอร์บามาเต้ (Yerba Mate) การได้รับอาหารเสริมที่เหมาะสมเฉพาะบุคคลก็จะช่วยให้ลดน้ำหนักได้ดีขึ้นมากกว่าการควบคุมอาหารและออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว ดังนั้นการใช้อาหารเสริมเพื่อช่วยในการลดหรือควบคุมน้ำหนักจึงแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางก่อน น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยหรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่าสามารถลดความอ้วนได้จริงจากการใช้อาหารเสริมเพียงอย่างเดียว ส่วนใหญ่คนที่รับประทานอาหารเสริมเพื่อหวังผลในการลดความอ้วนมักจะมีการคุมอาหารหรือออกกำลังกายร่วมด้วย ทำให้เห็นผลลัพธ์โดยรวมเป็นน้ำหนักที่ลดลง อาจทำให้รู้สึกว่าน้ำหนักที่ลดลงนั้นเกิดจากจากผลของอาหารเสริม ดังนั้นการได้รับอาหารเสริมที่เหมาะสมเฉพาะบุคคลจะช่วยให้ลดน้ำหนักได้ดีขึ้นมากกว่าการควบคุมอาหารและออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว
อ่านข่าวเพิ่มเติม: สถาบันวิจัยกล้วยไต้หวัน ผลักดันการแปรรูปผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากกล้วยดิบ เพื่อเพิ่มมูลค่า